วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

20 คำถาม ?กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน

ข้อ 1 หนึ่งทราบว่าที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของตนถูกสองครอบครองปรปักษ์เสียแล้ว หนึ่งจึงขายที่ดินนั้นแก่สาม ภายหลังการจดทะเบียนโอนแล้วสามจึงทราบว่าสองครอบครองที่ดินนั้นอยู่ สามจึงขายที่ดินนั้นต่อให้สี่โดยมีข้อสัญญาว่าให้สี่เป็นผู้ดำเนินการขับไล่สองเอง เมื่อจดทะเบียนโอนแล้วสี่จึงยื่นคำขาดให้สองออกไปจากที่ดินนั้นภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสองจะมีข้อต่อสู้อย่างไรหรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1299 วรรค 2 ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตามปัญหา สามซื้อที่ดินจากหนึ่งโดยภายหลังจากจดทะเบียนโอนแล้วจึงทราบว่าสองครอบครองที่ดินนั้นอยู่ แสดงว่าในขณะที่จดทะเบียนโอน สามยังไม่ทราบว่าสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินนั้น จึงถือว่าสามเป็นผู้ซื้อโดยสุจริต ดังนี้สามจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว สิทธิครอบครองปรปักษ์ของสองนั้นเมื่อยังมิได้จดทะเบียนจึงยกเป็นข้อต่อสู้สามไม่ได้ตาม ปพพ. มาตรา 1299 วรรค 2 ดังกล่าว สี่เป็นผู้รับโอนที่ดินนั้นต่อจากสาม เมื่อสามซึ่งเป็นผู้โอนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว สี่ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับสามผู้โอน โดยไม่ต้องวิเคราะห์ว่าสี่จะเป็นผู้ได้สิทธิโดยเสียค่าตอบแทน หรือโดยสุจริตหรือไม่ สี่จึงมีสิทธิดีกว่าสองผู้ครอบครองปรปักษ์(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1015/2485)ดังนั้น สองจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด
ข้อ 2 สมชายทะเลาะกับแฟนสาวและโกรธที่แฟนสาวคืนแหวนทองซึ่งตนให้เป็นของขวัญจึงขว้างแหวนทองนั้นทิ้งไปในกองขยะแล้วจากไป สมศรีเห็นเหตุการณ์จึงเข้าไปค้นหาจนพบแหวนทองนั้น สุดสวยอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเห็นว่าแหวนทองนั้นสวยมากจึงขอซื้อ สมศรีเกรงว่าเก็บไว้อาจมีปัญหายุ่งยากจึงขายแหวนทองนั้นให้สุดสวยไป วันรุ่งขึ้น สมชายนึกเสียดายแหวนทองนั้นจึงกลับไปหาที่เดิมและทราบความจริงว่า สุดสวยเป็นคนรับซื้อแหวนทองนั้นไว้ สมชายจึงตามไปทวงแหวนนั้นคืนจากสุดสวย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสุดสวยจะมีข้อต่อสู้อย่างไรหรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ.มาตรา 1319 ถ้าเจ้าของสังหาริมทรัพย์เลิกครอบครองทรัพย์ด้วยเจตนาสละกรรมสิทธิไซร้ ท่านว่าสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีเจ้าของมาตรา 1318 บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิแห่งสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของโดยเข้าถือเอา เว้นแต่การเข้าถือเอานั้นต้องห้ามตามกฎหมาย หรือฝ่าฝืนสิทธิของบุคคลอื่นที่จะเข้าถือเอาสังหาริมทรัพย์นั้นตามปัญหา สมชายทะเลาะกับแฟนสาวและโกรธที่แฟนสาวคืนแหวนทองซึ่งตนให้เป็นของขวัญ จึงขว้างแหวนทองนั้นทิ้งไปในกองขยะ ถือได้ว่าสมชายเลิกครอบครองสังหาริมทรัพย์ด้วยเจตนาสละกรรมสิทธิแล้ว แหวนทองนั้นจึงเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ตาม ปพพ.มาตรา 1319 ดังกล่าว สมศรีเข้าไปค้นหาจนพบแหวนทองนั้น จึงถือได้ว่าสมศรีได้มาซึ่งกรรมสิทธิแห่งแหวนทองนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของ โดยเข้าถือเอา ตาม ปพพ. มาตรา 1318 ดังกล่าว สุดสวยเป็นผู้รับซื้อแหวนทองนั้นจากสมศรีผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ สุดสวยจึงได้กรรมสิทธิในแหวนทองนั้นโดยชอบ ฉะนั้น สุดสวยจึงมีข้อต่อสู้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว
ข้อ 3 นาย ก. ไปทำงานในต่างประเทศและมีภรรยาใหม่ที่นั่น จึงขาดการติดต่อกับนาง ข.ภรรยาเดิม ต่อมานาง ข. ขัดสนมากจึงแอบอ้างไปเอาช้างของนาย ก. ซึ่งนาย ก. ฝากญาติเลี้ยงไว้โดยบอกว่านาย ก. ให้มาเอาคืน แล้วนำช้างนั้นไปขายให้นาย ค. โดยบอกว่าตนเป็นเจ้าของช้างเอง นาย ค. ไม่ทราบเรื่องเข้าใจว่าจริง จึงรับซื้อไว้โดยมิได้มีการโอนกันทางทะเบียนแต่ประการใด 6 ปีต่อมานาย ก. กลับจากต่างประเทศและทราบเรื่องดังกล่าวจึงไปทวงช้างนั้นคืนจากนาย ค. โดยแจ้งว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง อีกทั้งการซื้อขายสัตว์พาหนะ เมื่อไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นาย ค.จะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยความเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้ตามปัญหา ค. ซื้อช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะจาก ข. โดยมิได้มีการโอนกันทางทะเบียนการซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย แต่เนื่องจาก ค. รับซื้อช้างนั้นไว้โดยมิทราบว่าข. มิใช่เจ้าของที่แท้จริงจึงถือได้ว่า ข. ได้ครอบครองช้างซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยสุจริต ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยได้ครอบครอบติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปีซึ่งเกินกว่า 5 ปีตามกฎหมาย และไม่ปรากฏว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ หรือไม่เปิดเผยแต่ประการใด ค จึงได้กรรมสิทธิ์ในช้างนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ปพพ. มาตรา 1382 ดังกล่าวฉะนั้น ค. จึงมีข้อต่อสู้ ข ได้โดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ตามหลักกฎหมายดังกล่าว
ข้อ 4 จันทร์ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้อังคารนำที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งไปจำนอง แต่อังคารได้แก้ไขหนังสือมอบอำนาจนั้น แล้วไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ตนเองหลังจากนั้นอังคารได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายพุธ โดยพุธไม่ทราบเรื่องความเป็นมาและได้จ่ายเงินค่าซื้อฝากไปเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า จันทร์จะมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและขายฝากดังกล่าวได้หรือไม่โดยอาศัยบทกฎหมายใด?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย”ตามปัญหา การที่จันทร์ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้อังคารนำที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งไปจำนอง แต่อังคารกลับแก้ไขหนังสือมอบอำนาจนั้น แล้วนำไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ตนเองนั้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ดังนั้น ถือว่านิติกรรมโอนขายที่ดินดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นของจันทร์อยู่ อังคารไม่มีสิทธิใดที่จะนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายฝากได้ แม้พุธจะได้ซื้อฝากโดยจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วและกระทำการโดยสุจริต ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิใดซึ่งเป็นไปตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(คำพิพากษาฎีกาที่ 1048/2536)ฉะนั้น จันทร์เจ้าของกรรมสิทธิจึงมีสิทธิติดตามเอาคืนโดยฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและขายฝากดังกล่าวได้ โดยอาศัยอำนาจของเจ้าของกรรมสิทธิตามมาตรา 1336 ดังกล่าว
ข้อ 5 เสนอให้สนองอยู่อาศัยทำกินในที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของตนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าสนองอยู่ทำกินได้ 2 ปี ก็ไปขอให้ทางราชการออก สทก. (หนังสืออนุญาตให้ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินในที่ดินได้ชั่วคราว) ให้แก่ตนเองโดยนายเสนอไม่ทราบเรื่อง อีก 10 ปีต่อมา เสนอต้องการใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว จึงขอให้สนองย้ายออกไปแต่สนองไม่ยอมโดยต่อสู้ว่าตนได้สิทธิครอบครองโดยชอบแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า เสนอจะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตามปัญหา การที่เสนอให้สนองอยู่อาศัยทำกินในที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของตนโดยไม่ต้องเสียค่าเช่านั้น เห็นได้ว่าสนองอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเสนอ ถือว่าสนองยึดถือที่ดินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง แม้สนองจะไปขอให้ทางราชการออก สทก.1 ให้แก่ตนเองก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เช่นนี้แม้สนองจะไปขอให้ทางราชการออกหนังสือดังกล่าวช้านานเพียงใด ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ขึ้น สนองยังคงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองอยู่นั่นเอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1720/2536)ฉะนั้น ตราบใดที่สนองยังมิได้บอกกล่าวไปยังเสนอว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินดังกล่าวแทนเสนออีกต่อไป แม้สนองจะยึดถืออยู่นานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง เสนอจึงมีข้อต่อสู้ตามมาตรา 1381 ดังกล่าว
ข้อ 6 สุกทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่ใส แต่สุกผิดสัญญา ใสจึงฟ้องสุกให้โอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้ตามสัญญา ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้สุกโอนที่ดินให้แก่ใส แต่ในขณะที่ยังมิได้ทำการโอนกัน เจ้าหนี้ของสุกได้ฟ้องสุกและจะบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนี้ใสจะมีข้อต่อสู้เจ้าหนี้ของสุกอย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1300 “ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้”ตามปัญหา การที่สุกทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่ใสนั้น สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวก่อให้เกิดเพียงบุคคลสิทธิ ยังไม่ทำให้ใสเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้สุกโอนที่ดินให้แก่ใสแล้ว แม้จะยังมิได้จดทะเบียนโอน ใสก็เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว ตาม ปพพ. มาตรา 1300 ดังกล่าว เจ้าหนี้ของสุกจะบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางเสียเปรียบแก่ใสไม่ได้ ( คำพิพากษาฎีกาที่4137/2533 )ฉะนั้น ใสจึงมีข้อต่อสู้เจ้าหนี้ของสุกได้ โดยยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 1300 ดังกล่าว
ข้อ 7 เกศได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ยังมิได้นำไปจดทะเบียนต่อมาเกล้าได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวตามพินัยกรรม เกล้าจึงได้แจ้งให้เกศออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิฉัยว่าเกศจะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1300 “ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้”ตามปัญหา เกศได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งโดยการครอบครองโดยปรปักษ์แล้วแต่ยังมิได้นำไปจดทะเบียน เกศจึงเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตามมาตรา 1300 ดังกล่าว การที่เกล้าจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวตามพินัยกรรม จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่เกศผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ในเมื่อเกล้าได้รับโอนโดยทางมรดกซึ่งเป็นการได้มาโดยเสน่หามิได้มีค่าตอบแทน แม้จะได้จดทะเบียนรับโอนแล้ว เกศก็เรียกให้เพิกถอนทางทะเบียนได้ ( เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1886/2536 )ฉะนั้น เกศจึงมีข้อต่อสู้โดยฟ้องให้เพิกถอนทางทะเบียนได้ตามมาตรา 1300 ดังกล่าว
ข้อ 8 สีให้แสงเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของตนโดยคิดค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งข้าวเปลือกจากการทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาสีถึงแก่กรรม จากนั้นแสงก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าและแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินเสียเองอีก 5 ปี ต่อมาสวยทายาทผู้รับมรดกของสีทราบเรื่องจึงยื่นคำขาดให้แสงออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวมิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าแสงจะมีข้อต่อสู้หรือไม่ อย่างไร?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก”ตามปัญหาแสงเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากสี โดยเสียค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งข้าวเปลือกจากการทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าว แสงจึงเป็นบุคคลผู้ยึดถือที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนสี ผู้ครอบครองตามมาตรา 1381 ดังกล่าว แสงจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยการบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองอีกต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก ในเมื่อแสงเพียงแสดงตนเป็นเจ้าของโดยมิได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครอง และมิได้อำนาจใหม่จากบุคคลภายนอกแต่ประการใด แม้แสงจะยึดถือที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง (เทียบคำพิพากษาคดีฎีกาที่ 699/2536)ฉะนั้น แสงจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามนัยสำคัญแห่งมาตรา 1381 ดังกล่าว
ข้อ 9 บริษัท ก. ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์บริษัท ก. ได้ซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายแดงซึ่งนำมาขาย ณ ที่ทำการของบริษัท แต่แท้จริงแล้วรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของบริษัท ข. ซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เช่นเดียวกัน แต่รถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายฉ้อโกงไปเมื่อ 3 ปีก่อน บริษัท ข. ทราบเรื่องจึงได้ทวงรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากบริษัท ก. ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า บริษัท ก. จะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้า ซึ่งขายของชนิดนั้นไม่จำต้องคืนแก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”ตามปัญหา บริษัท ก. ได้ซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายแดงซึ่งนำมาขาย ณ ที่ทำการของบริษัท ดังนี้บริษัท ก. จึงมิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินมาจากการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด และไม่ปรากฏว่านายแดงเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นแต่ประการใด บริษัท ก. จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดถือรถยนต์คันดังกล่าวไว้ตาม มาตรา 1332 ดังกล่าว บริษัท ก. ต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แกบริษัท ข. เจ้าของที่แท้จริงโดยไม่ได้รับการคุ้มครองในส่วนของราคาที่ซื้อมาแต่ประการใด (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 493/2536)ฉะนั้น บริษัท ก. จึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามนัยสำคัญแห่งมาตรา 1332 ดังกล่าว
ข้อ 10 ที่ตื้นเขินชายตลิ่งแห่งหนึ่งซึ่งน้ำท่วมถึงราวปีละ 3 เดือน เพชรได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ตื้นเขินนั้นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ส่วนพลอยเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่ติดชายตลิ่งนั้น ทั้งเพชรและพลอยต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ตื้นเขินดังกล่าว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าเพชรหรือพลอยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ตื้นเขินชายตลิ่งดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น…(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบมาตรา 1305 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามปัญหา ที่ตื้นเขินชายตลิ่งซึ่งน้ำท่วมถึงนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2) ดังกล่าว ที่ตื้นเขินนั้นจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่ง ฉะนั้นพลอยเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่ติดชายตลิ่งนั้นจึงหาได้กรรมสิทธิ์ในที่ตื้นเขินนั้นไม่(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 350/2522) เมื่อที่ตื้นเขินนั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินผู้ใดเข้าครอบครองเป็นเวลานานเท่าใด ก็หาอาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินได้ไม่ ตามมาตรา1306 ดังกล่าว ฉะนั้น แม้เพชรจะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ตื้นเขินนั้นเป็นเวลากว่า 10ปีแล้ว ก็หาได้กรรมสิทธิ์แต่อย่างใดไม่ฉะนั้น ทั้งเพชรและพลอยหาได้กรรมสิทธิ์ในที่ตื้นเขินชายตลิ่งนั้นไม่ ตามมาตรา 1304(2) และมาตรา 1306 ดังกล่าว
ข้อ 11 ปูเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งมีเนื้อที่ 10 ไร่ เป็นที่ตาบอดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ปูได้แบ่งขายที่ดินจำนวน 3 ไร่ ให้แก่ปลาโดยจดทะเบียนโอนกันเรียบร้อยแล้ว ต่อมาทางราชการได้ตัดถนนผ่านหน้าที่ดินของปูแต่ไม่ผ่านที่ดินของปลา ด้วยเหตุนี้ปลาจึงเรียกให้ปูเปิดทางจำเป็นให้ตนผ่านออกสู่ถนนสาธารณะ โดยอ้างสิทธิไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามกฎหมาย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างไม่ต้องเสียค่าทดแทนของปลารับฟังได้หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1350 ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน เป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนและไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามปัญหา ปูได้แบ่งขายที่ดินให้แก่ปลาโดยจดทะเบียนโอนกันเรียบร้อยแล้ว ต่อมาทางราชการจึงได้ตัดถนนผ่านหน้าที่ดินของปู เช่นนี้เห็นได้ว่าทางสาธารณะได้เกิดขึ้นภายหลังจากได้แบ่งแยกที่ดินแล้ว มิใช่กรณีแบ่งแยกที่ดินเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะ อันเป็นผลให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ไม่มีทางออกนั้นมีสิทธิเรียกเอาทางเดินบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามมาตรา 1350 กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปลาจึงเรียกให้ปูเปิดทางจำเป็นให้ตนผ่านออกสู่สาธารณะ โดยอ้างสิทธิไม่ต้องเสียค่าทดแทนไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 629/2522)ฉะนั้น ข้ออ้างไม่ต้องเสียค่าทดแทนของปลาจึงหารับฟังได้ไม่
ข้อ 12 กิ่งยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินผืนหนึ่งโดยเข้าใจเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่แท้จริงแล้วที่ดินผืนนั้นเป็นส่วนหนึ่งในเขตที่ดินมือเปล่าของแก้ว อีกปีเศษต่อมา กิ่งนำรถไปไถที่ดินนั้นเพื่อเข้าทำประโยชน์ แก้วทราบเรื่องจึงยื่นคำขาดให้หยุดกระทำการและขนย้ายทรัพย์สินออกไป ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า กิ่งจะมีข้อต่อสู้อย่างใด หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1375 เข้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามปัญหา การที่กิ่งยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินในเขตที่ดินมือเปล่าของแก้วนั้น เห็นได้ว่ากิ่งยังมิได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อกิ่งนำรถไปไถที่ดินนั้นเพื่อเข้าทำประโยชน์จึงถือได้ว่าการแย่งการครอบครองได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ระยะเวลาการแย่งการครอบครองยังไม่ครบปีหนึ่ง แก้วจึงยังไม่ขาดสิทธิในการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามมาตรา 1375 ดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 596/2530)ฉะนั้น กิ่งจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามนัยแห่งมาตรา 1375 ดังกล่าว
ข้อ 13 หมอกซื้อที่ดิน น.ส.3 แปลงหนึ่งจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาล โดยไม่ทราบว่าที่ดินนั้นเป็นทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกัน หมอกได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลาปีเศษก็ถูกทางราชการยื่นคำขาดให้ออกไปจากที่ดินนั้น ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าหมอกจะมีข้อต่อสู้อย่างใด หรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1304 สาธารณสมบัติแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น…(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามปัญหา ที่ดินซึ่งเป็นทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกันนั้นเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2) ดังกล่าว เมื่อที่ดินที่หมอกซื้อเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้หมอกจะซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลโดยสุจริต หมอกก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินแปลงนั้น เพราะสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2622/2522)ฉะนั้น หมอกจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามมาตรา 1304 (2) และมาตรา 1305 ดังกล่าว
ข้อ 14 เสือสร้างบ้านหลังหนึ่งแต่ได้ทำถังส้วมซีเมนต์รุกล้ำเข้าไปฝังอยู่ในที่ดินของช้าง โดยเข้าใจว่าอยู่ในเขตที่ดินของตนเอง เมื่อมีการรังวัดตรวจสอบเขตจึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เสือจึงเสนอเงินค่าตอบแทนแก่ช้างเป็นค่าใช้ที่ดิน แต่ช้างไม่ยอมและยืนยันให้เสือรื้อถอนออกไป ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า เสือจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างใด หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ.มาตรา 1312 วรรค 1 บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนเป็นภารจำยอม…ตามปัญหา เสือทำถังส้วมซีเมนต์รุกล้ำเข้าไปฝังอยู่ในที่ดินของช้างโดยเข้าใจว่าอยู่ในเขตที่ดินของตนเอง แต่ถังส้วมซีเมนต์มิใช่โรงเรือนและอยู่นอกโรงเรือนไม่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนแม้เสือจะกระทำโดยสุจริตก็ไม่ได้รับ การคุ้มครองตามมาตรา 1312 วรรค 1 ดังกล่าว แม้เสือจะเสนอเงินตอบแทนแก่ช้างเป็นค่าใช้ที่ดิน แต่ช้างไม่ยอม เสือก็ต้องรื้อถอนถังส้วมซีเมนต์นั้นออกไป (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2316/2522)ฉะนั้น เสือจึงไม่ได้การคุ้มครองตามมาตรา 1312 วรรค 1 แต่ประการใด
ข้อ 15 ขนุนปลอมหนังสือมอบอำนาจของบิดา ไปจดทะเบียนโอนขายเรือนแพให้แก่ทุเรียน โดยทุเรียนไม่ทราบ เข้าใจว่าเป็นการโอนโดยชอบ อีก 6 ปีต่อมา บิดาของขนุนทราบเรื่องจึงเรียกให้ทุเรียนส่งมอบเรือนแพนั้นคืนแก่ตน มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าทุเรียนจะมีข้อต่อสู้อย่างไรหรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
ตามปัญหา
ทุเรียนซื้อเรือนแพจากขนุน และได้จดทะเบียนโอนกันเรียบร้อย โดยทุเรียนไม่ทราบว่าขนุนปลอมหนังสือมอบอำนาจของบิดา เข้าใจว่าเป็นการโอนโดยชอบ จึงเห็นได้ว่าทุเรียนกระทำโดยสุจริต และได้ครอบครองเรือนแพนั้นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ และไม่ปรากฏว่าทุเรียนครอบครองโดยไม่สงบหรือโดยไม่เปิดเผยแต่ประการใด แม้เรือนแพนั้นจะมิใช่ของขนุนผู้ขาย แต่เมื่อทุเรียนมิได้ครอบครองแทนผู้อื่น แต่ได้ครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสำหรับเรือนแพซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินห้าปีทุเรียนจึงได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 ดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 969/2536)ฉะนั้น ทุเรียนจึงมีข้อต่อสู้โดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตามมาตรา 1382 ดังกล่าว
ข้อ 16 บุญมาให้บุญมีเข้าทำกินในที่ดินมือเปล่าของตนแทนการชำระดอกเบี้ย บุญมีเห็นว่าอย่างไรเสียก็ไม่ได้รับชำระหนี้แน่จึงได้ไปขอออก น.ส. 3 ก. ในที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของตน จนปีเศษต่อมา บุญมาทราบเรื่องจึงยื่นคำขาดให้บุญมีออกไปจากที่ดินดังกล่าว มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าบุญมีจะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตามปัญหา บุญมาให้บุญมีเข้าทำกินในที่ดินมือเปล่าของตนแทนการชำระหนี้ดอกเบี้ยนั้นเห็นได้ว่าบุญมีได้ยึดถือที่ดินดังกล่าวอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนบุญมาผู้ครอบครอง การที่บุญมีไปขอออก น.ส.3 ก. ในที่ดินนั้นเป็นชื่อของตนโดยเห็นว่าอย่างไรเสียก็ไม่ได้ชำระหนี้แน่นั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวไปยังบุญมาผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินดังกล่าวแทนบุญมาผู้ครอบครองต่อไป จึงยังมิใช่การแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ปพพ. มาตรา1381 แต่ประการใด ดังนี้แม้บุญมีจะยึดถือที่ดินนั้นเป็นเวลาช้านานเพียงไรก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3417/2527)ดังนั้น บุญมีจึงไม่มีข้อต่อสู้บุญมาแต่ประการใด
ข้อ 17 ขาวได้กรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของแดงโดยการครอบครองปรปักษ์มาเป็นเวลานานแล้วแต่มิได้จดทะเบียน ต่อมาแดงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่เขียว โดยเขียวทราบว่าขาวครอบครองที่ดินส่วนนั้นอยู่แล้ว แต่สำคัญผิดว่าเป็นที่ดินนอกโฉนดและเข้าใจว่าเป็นที่ดินของขาวเอง ภายหลังจากจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนั้นแล้ว เขียวจึงทราบว่าที่ดินส่วนที่ขาวครอบครองนั้นอยู่ในเขตโฉนดที่ซื้อจากแดง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าขาวจะเพิกถอนการจดทะเบียนของเขียวในส่วนที่ดินที่ตนครอบครองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1300 ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
ตามปัญหา
ขาวได้กรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของแดงโดยการครอบครองปรปักษ์มาเป็นเวลานานแล้วแต่มิได้จดทะเบียน ต่อมาแดงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่เขียว เมื่อเขียวทราบว่าขาวครอบครองที่ดินส่วนนั้นอยู่แล้วย่อมถือได้ว่าเขียวเป็นผู้รับโอนโดยไม่สุจริต แม้เขียวจะสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินอยู่นอกโฉนดและเข้าใจว่าเป็นที่ดินของขาวเองก็ไม่อาจเป็นข้ออ้างที่จะทำให้เขียวเป็นผู้จดทะเบียนรับโอนโดยสุจริตได้แต่ประการใด ฉะนั้นการจดทะเบียนดังกล่าวจึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ขาวผู้ครอบครองปรปักษ์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนอยู่ก่อนตาม ปพพ. มาตรา 1300 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 265/2530)ดังนั้น ขาวจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนของเขียวในส่วนที่ดินที่ตนครอบครองได้
ข้อ 18 กมล กวินทว์ และกระจ่าง ออกเงินกันคนละสามแสนบาท สองแสนบาท และหนึ่งแสนบาทตามลำดับ ร่วมกันซื้อรถตู้คันหนึ่งราคาหกแสนบาท เพื่อวิ่งรับส่งคนโดยสารระหว่างหลักสี่ –ปากเกร็ด หลังจากวิ่งรถได้สองปี กวินทร์ได้เสนอความเห็นว่าควรเปลี่ยนเส้นทางเดินจากเดิมเป็นปากเกร็ด – หมอชิต เนื่องจากมีผู้โดยสารมากกว่า ส่วนกมลเสนอความเห็นว่าควรขายรถตู้คันดังกล่าวแล้วนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วนเนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงนี้ไม่ดี ทั้งสามคนได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ปรากฏผลดังนี้ กระจ่างเห็นว่าควรเปลี่ยนเส้นทางเดินรถและไม่ควรขายรถ กมลเห็นว่าไม่ควรเปลี่ยนเส้นทางเดินรถแต่ควรขายรถ กวินทร์เห็นด้วยทั้งสองกรณีว่าจะขายรถหรือจะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถก็ได้ ดังนี้ท่านเห็นว่าจะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถหรือจะขายรถตู้คันดังกล่าวได้หรือไม่เพราะเหตุใด?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1358 “วรรคสาม” ในเรื่องจัดการอันเป็นสารสำคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนเสียงข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สินการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคนตามปัญหา การที่กมล กวินทร์ และกระจ่าง เป็นเจ้าของรวมในรถตู้คันหนึ่ง โดยกมลมีส่วนราคาสามแสนบาท กวินทร์สองแสนบาท กระจ่างหนึ่งแสนบาท ต่อมามีความประสงค์จะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถจากปากเกร็ด – หลักสี่ เป็นปากเกร็ด – หมอชิต ซึ่งเป็นการจัดการอันเป็นสารสำคัญตาม ปพพ. มาตรา 1358 วรรคสาม ต้องตกลงกันโดยคะแนนเสียงข้างมากและมีส่วนราคาไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าทรัพย์สิน ปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วยสองรายคือ กระจ่างและกวินทร์ซึ่งเป็นเสียงข้างมากและมีส่วนราคารวมกันแล้วได้สามแสนบาทอันไม่ต่ำกว่าครึ่งของราคาทั้งหมดหกแสนบาท ย่อมสามารถกระทำได้ส่วนการขายรถตู้คันดังกล่าวเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกันนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ตาม ปพพ.มาตรา 1358 วรรคสี่ ต้องตกลงกันโดยได้รับความเห็นชอบของเจ้าของรวมทุกคน ปรากฏว่ามีผู้เห็นชอบสองคน คือ กมลกับกวินทร์ส่วนกระจ่างไม่เห็นชอบด้วย แม้ว่ากระจ่างจะมีส่วนราคาหนึ่งแสนบาทน้อยกว่าเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สามารถขายรถตู้คันดังกล่าวได้ดังนั้น เห็นว่าเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถได้ แต่ขายรถตู้คันดังกล่าวไม่ได้ ตามเหตุผลดังกล่าว
ข้อ 19 ชาติยอมออกจากที่ดินมือเปล่าของตนเพราะหลงเชื่อคำบอกกล่าวของเจ้าพนักงานว่าที่ดินนั้นเป็นที่สาธารณะ ภายหลัง 10 ปีเศษต่อมามีการรังวัดสอบเขตที่ดินใหม่ ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวอยู่นอกเขตสาธารณะ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ชาติจะเรียกร้องที่ดินดังกล่าวคืนได้หรือไม่เพระเหตุใด?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1377 ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสิ้นสุดลงถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินไซร์ ท่านว่าการครอบครองไม่สิ้นสุดลงตามปัญหา การที่ชาติยอมออกจากที่ดินมือเปล่าของตนเพราะหลงเชื่อคำบอกกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินนั้นเป็นที่สาธารณะ ภายหลัง 10 ปีเศษต่อมามีการรังวัดสอบเขตที่ดินใหม่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวอยู่นอกเขตที่สาธารณะนั้น เห็นได้ว่าชาติยินยอมออกจากที่ดินดังกล่าวเป็นเวลาถึง 10 ปีเศษแล้ว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันมีสภาพเป็นการชั่วคราวมาขัดขวาง มิให้ชาติยึดถือทรัพย์สินตาม ปพพ. มาตรา 1377 วรรคสอง จึงถือได้ว่าชาติสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือที่ดินนั้นต่อไป การครอบครองของชาติจึงสิ้นสุดลงตาม ปพพ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง(คำพิพากษาฎีกาที่ 2954/2523)ดังนั้น ชาติจะเรียกร้องที่ดินดังกล่าวคืนหาได้ไม่
ข้อ 20 เสือนำพินัยกรรมไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งมาเป็นของตน โดยไม่ทราบว่าเป็นพินัยกรรมปลอม แล้วนำมาจดทะเบียนขายฝากให้แก่ช้าง โดยช้างก็ไม่ทราบเรื่องพินัยกรรมปลอมแต่อย่างใด ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นส่วนที่เป็นมรดกของแมวซึ่งยังมิได้จดทะเบียน ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าแมวจะเรียกให้ช้างส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่ตนได้หรือไม่เพราะเหตุใด?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้ามิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามปัญหา การที่เสือนำพินัยกรรมปลอมไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินมีโฉนดปลงหนึ่งมาเป็นของตน แล้วนำไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่ช้างนั้น เห็นได้ว่าเสือไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ ฉะนั้นช้างจึงเป็นผู้รับขายฝากจากผู้ซึ่งไม่มีสิทธิใด ๆ แม้ช้างจะได้จดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักผู้รับโอน ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้รับโอน ฉะนั้น แมวเจ้าของที่แท้จริงจึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากช้างผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ตาม ปพพ. มาตรา 1336 ดังกล่าวดังนั้น แมวจึงเรียกให้ช้างส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่ตนได้ข้อ 21เสนาะและสะอาดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในสวนมะพร้าวแปลงหนึ่งโดยมีส่วนคนละครึ่ง เสนาะได้เข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในสวนมะพร้าวดังกล่าว และเก็บผลมะพร้าวในสวนนั้นขายตลอดมาโดยสะอาดซึ่งอยู่ต่างจังหวัดไม่ทราบเรื่อง ทั้งเสนาะก็ไม่เคยบอกเล่าหรือขออนุญาตจากสะอาดเลย ต่อมาสะอาดทราบเรื่องดังกล่าว ประสงค์จะฟ้องขับไล่เสนาะให้ออกไปจากสวนมะพร้าวและเรียกเงินที่ขายผลมะพร้าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใดเฉลยตามปพพ. มาตรา 1360 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆท่านให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิ์ได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้นตามปัญหา การที่เสนาะและสะอาดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกันในสวนมะพร้าวแปลงหนึ่งโดยมีส่วนคนละครึ่ง เสนาะได้เข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยอยู่ในสวนมะพร้าวดังกล่าวนั้นสามารถกระทำได้เพราะเป็นการใช้ทรัพย์สินในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ตามมาตรา 1360วรรคหนึ่งแห่ง ปพพ. โดยไม่ถือว่าละเมิดต่อสะอาดซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่ง แม้สะอาดจะไม่ทราบเรื่องและเสนาะก็ไม่เคยขออนุญาตก็ตาม เพราะผลมะพร้าวเป็นดอกผลของทรัพย์สินคือสวนมะพร้าวที่เสนาะและสะอาดมีส่วนคนละครึ่ง เมื่อไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา1360 วรรคสองแห่ง ปพพ. ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิ์ได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น สะอาดจึงมีส่วนในเงินค่าขายผลมะพร้าวครึ่งหนึ่งดังนั้น เห็นว่าสะอาดฟ้องขับไล่เสนาะให้ออกไปจากมะพร้าวไม่ได้และสะอาดมีสิทธิ์เรียกร้องเงินค่าขายผลมะพร้าวจากเสนาะได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น