วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

จรรยาบรรณของทนายความ


ทนายความเป็นนักกฎหมายที่มีความสำคัญมาก เพราะเขาเป็นตัวแทนของตัวความแก้ว่าต่างลูกความในศาล ซึ่งโดยหลักเขามีหน้าที่ 3 ประการคือ
1.) หน้าที่ต่อตัวความ ซึ่งเป็นตัวการที่จะกระทำการแทนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดี
2.) หน้าที่ต่อศาลที่จะต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำสั่ง และปฏิบัติตามคำสั่ง และ
3.) หน้าที่ต่อผู้อื่นที่จะไม่เอา เปรียบกัน 8 หน้าที่ต่อลูกความนั้นแบ่งเป็นระหว่างทนายกับลูกความเองกับหน้าที่ที่จะกระทำการกับบุคคลภายนอกแทนลูกความด้วยความซื่อสัตย์และระมัดระวัง เขาจะต้องรักษาประโยชน์ของลูกความเหมือนกับประโยชน์ของเขาเองและด้วยคุณธรรม ทนายความเดิมอยู่ในความควบคุมของเนติบัณฑิตยสภาเพิ่งแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระเมื่อ 20 ปีเศษมานี่ มีสภาทนายความและมีกรรมการควบคุมมารยาททนายความลงโทษกันเอง ซึ่งมีตั้งแต่ภาคทัณฑ์เป็นอันดับต้น ห้ามว่าความเป็นอันดับสูงขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 ปี และถ้าร้ายแรงก็จะ ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความซึ่งต่างกับประเทศอังกฤษที่ไม่ว่านักกฎหมายประเภทใด ถ้าทำผิดมารยาทแล้วเขาจะไล่ออกไปจากวงการเลย ทนายอังกฤษจึงได้ชื่อว่าสุจริตและมีเกียรติได้รับความเชื่อถือจากมหาชนสูงที่สุด ขนาดเบิกความไม่สาบานศาลก็เชื่อ ดังได้กล่าวมาแล้ว

จรรยาสำหรับทนายความเรียกว่ามารยาททนายความ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2529 มี 21 ข้อ เป็นข้อห้ามทำผิดหน้าที่ ที่มีต่อศาล และต่อลูกความ

ข้อ 1 – ข้อ 4 เป็นบททั่วไป จะไม่นำมาพิมพ์ไว้ในนี้ ส่วนข้อต่อไปนี้เป็นข้อห้ามมิให้กระทำ ทนายผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าผิดมารยาท หากเขาผู้ใดประพฤติตนดังต่อไปนี้ :

ข้อ 5 ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่มีข้อแก้ตัวโดยสมควร

ข้อ 6 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจหรือผู้พิพากษา

ข้อ 7 กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลงหรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

ข้อ 8 สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบทแก่เจ้าพนักงาน

ข้อ 9 กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้

ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้ อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใด ๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดี นั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้

ข้อ 11 เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล

ข้อ 12 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ จงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

ข้อ 13 ได้รับปรึกษาหารือหรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่งแล้วภายหลัง ไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ ในกรณีเดียวกัน

ข้อ 14 ได้รับทนายความแล้ว ภายหลังใช้อุบายด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้

ข้อ 15 กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระยัดสินลูกความหรือครอบครองหรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือ ทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความที่ตนได้รับโดยหน้าที่ อันเกี่ยวข้องไว้นอนเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความเว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร

ข้อ 16 แย่งหรือทำการใดในลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่า
หรือรับหรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นว่าอยู่แล้วเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้น แล้วมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว

ข้อ 17 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใด ๆ ดังต่อไปนี้
- อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเองหรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง หรือ ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานอันเป็นไปในทางโอ้อวด เป็นเชิงชักชวน ให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ หรืออื่น ๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ

ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการ เสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรี และเกียรติคุณของทนายความ

ข้อที่ 19 ยินยอมตกลง หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าหรือบำเหน็จรางวัลใด ๆ ด้วยทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือมีคนประจำสำนักงานดำเนินการจัดหาคดีความมาให้ว่า โดยทนายความผู้นั้นคิดค่าส่วนลดของค่าจ้างให้ หรือให้เงินเดือน หรือเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความมาให้นั้น แม้บุคคลผู้หาคดีความมาให้โดยลักษณะดังกล่าวจะเป็นเสมียนหรือลูกจ้างประจำสำนักงานของทนายความผู้นั้นก็ตาม

ข้อ 20 ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- ทนายความชาย แต่งตามแบบสากลนิยมเป็นชุดสีขาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ๊ตขาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว สีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล หรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า
- ทนายความหญิงแต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพ ไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น
- ทนายความที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบราชการ จะแต่งเครื่องแบบราชการก็ได้
- ในขณะว่าความ ทนายความที่มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย

ข้อ 21 ทนายความจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความและคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตลอดจนบรรดาข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้สั่งหรือมีไว้แล้วแต่กรณีตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบัญญัติแห่งกฎหมาย ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ
ดังกล่าวมีโทษ 3 สถานคือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ (มาตรา 51 , 52) ทั้งนี้แล้วแต่ความร้ายแรงแห่งการกระทำ
ที่มา : http://www.jobsiam.com

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

อนุญาโตตุลาการ คืออะไร ?


อนุญาโตตุลาการ คือ บุคคลคนเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ชี้ขาด
การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเริ่มมีขึ้นมายาวนานตามวิวัฒนาการของกฎหมาย ดังหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน โดยในกฎหมายสิบสองโต๊ะได้บัญญัติให้มีคนกลางเป็นอนุญาโตตุลาการ ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในกฎหมายอังกฤษ
ประวัติ
ความจำเป็นในการที่ต้องมีการควบคุมการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้เริ่มขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 โดยในประเทศอังกฤษได้มีการกำหนดวิธีดำเนินงานของอนุญาโตตุลาการไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2240 ต่อมาใน พ.ศ. 2397 ได้มีการรวบรวมหลักกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการที่กระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ มาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ และเมื่อจำนวนข้อพิพาททางแพ่งมากขึ้นตามพัฒนาการของกิจการพาณิชย์ต่าง ๆ รัฐสภาอังกฤษจึงตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2432 มีเนื้อหาเป็นการประมวลหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา

ส่วนในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่า ในกฎหมายตราสามดวงมีการบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตระลาการโดยคู่ความ ซึ่งแตกต่างจากตระลาการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และต่อมาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2477 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องอนุญาโตตุลาการในศาลและนอกศาลไว้ กับทั้งได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล
ความหมาย
อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางแพ่งประเภทหนึ่งซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะของกระบวนการระงับข้อพิพาทได้ดังต่อไปนี้

1. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (อังกฤษ: conciliator) คือ บุคคลที่สามซึ่งคู่กรณีพิพาทตกตลงกันให้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดการประนีประนอมยอมความกัน โดยคู่กรณีพิพาทแต่ละฝ่ายต่างยินยอมผ่อนผันข้อเรียกร้องของตน และแต่ละฝ่ายจะได้รับสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแทน ในกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีหน้าที่เพียงไกล่เกลี่ยให้มีการประนีประนอมยอมความกัน ไม่มีอำนาจบังคับหรือตัดสินการใด ๆ ในการเจรจานั้น แต่อาจเสนอแนวทางในการตกลงกันของคู่กรณีพิพาทได้

2. อนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitrator) คือ บุคคลที่สามซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันให้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" ในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีพิพาทแสดงข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้พร้อมทั้งนำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาสืบเพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ตลอดจนสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันได้ รวมทั้งคู่กรณีพิพาทสามารถตกลงกันกำหนดวิธีพิจารณาโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแก่ข้อพิพาทได้ และเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว อนุญาโตตุลาการจึงมีคำวินิจฉัยข้อพิพาทได้

3. ตุลาการ (อังกฤษ: justice) หรือผู้พิพากษา (อังกฤษ: judge) คือ ผู้มีหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติให้ชี้ขาดข้อพิพาทใด ๆ ด้วยการมีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีที่มาสู่ศาลในกรณีที่คู่ความไม่อาจตกลงไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทกันได้ นอกจากนี้ ในกรณีพิพาทซึ่งไม่เป็นกรณีอันต้องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการตามที่กฎหมายกำหนด และคู่ความได้ยื่นฟ้องศาลแล้ว ตุลาการหรือผู้พิพากษาอาจไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันในศาลหรืออาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการในศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาใช้บังคับก็ได้ ตามแต่เห็นสมควร

การอนุญาโตตุลาการ
การอนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitration) เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" (อังกฤษ: arbitration agreement) มีใจความเป็นการเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชึ้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการไว้ในคราวนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยการมอบอำนาจให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนการมอบอำนาจเช่นว่าอาจกระทำกันโดยตกลงกันในสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเลยหรือในสัญญาอื่น ๆ ต่างหาก เช่น สัญญาที่คู่สัญญานั้นตกลงทำขึ้นเพื่อกิจการระหว่างกันและจะถือว่าข้อสัญญาต่างหากนี้นับเข้าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการเช่นกัน
ที่มา : th.wikipedia.org/