วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

การทำข้อสอบ นิติฯ รามคำเเหง!

เป็นที่รู้กันว่า ข้อสอบวิชากฏหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น เป็นข้อสอบแบบ "อัตนัย" หรือพูดง่ายๆก็คือ เป็นข้อสอบแบบเขียนนั่นเอง จึงทำให้บรรดานักศึกษาที่ไม่ถนัดในการทำข้อสอบแบบนี้ ต้องพากันตกแล้ว ตกเล่า ตกโซดา ตกนํ้าแข็ง ฯลฯ จนในที่สุดก็เรียนต่อไปไม่ไหวต้องย้ายไปเรียนคณะอื่น บางคนน่าเจ็บใจยิ่งกว่านั้น จำประมวลกฎหมายได้ทุกมาตรา ตอบถูกทุก ข้อ แต่ก็ยังตก ดังนั้น วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันถึงการทำข้อสอบ ว่าทำยังไง เขียนยังไง ตอบยังไงถึงจะผ่าน มาดูกันเลยครับ
1. อันดับแรกเลยก็คือ เมื่อเราได้รับข้อสอบมาแล้วให้อ่านข้อสอบก่อน อ่านให้ครบทุกข้อ และก็เขียนมาตราที่จะ ต้องใช้ตอบในแต่ละข้อลงไปในข้อสอบด้วย ขั้นตอนนี้ควรจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
2. เริ่มทำข้อสอบ เราไม่ต้องลอกคำถามลงไปในสมุดคำตอบ ให้เขียนคำตอบในแต่ละข้อลงไปได้เลย โดยเราจะ เริ่มทำข้อไหนก่อนก็ได้ แต่ข้อสอบข้อที่เราจะเขียนลงไปในสมุดคำตอบเป็นข้อแรกนั้น ควรจะเป็นข้อที่เราคิดว่าเราทำได้ถูกมากที่สุด แล้วจึงเรียงลำดับลงมาตามการทำได้ของเรา ตัวอย่างเช่น. ข้อสอบมี 4 ข้อ เราดูแล้วเห็นว่าข้อ 3 เราน่าจะทำได้ถูกมากที่สุด, ข้อ 2 รองลงมา, ข้อ 4 นี่ไม่ค่อยแน่ใจ, ข้อ 1 คิดว่าทำไม่ได้ ดังนี้ เราก็ทำข้อ 3 ก่อน ต่อมาก็ข้อ 2, ข้อ 4 แล้วก็ทำข้อ 1 เป็นข้อสุดท้าย เป็น ต้น
3. วิธีการเขียนคำตอบในแต่ละข้อ เราต้องเขียนตามลำดับ คือ - เขียนมาตราของกฎหมายที่จะใช้ในข้อนั้นๆ แต่ถ้าจำเลขมาตราไม่ได้ ก็ให้เขียนแต่เนื้อความของกฎ- หมายก็ได้ครับ โดยเขียนว่า "..(ชื่อประมวลกฎหมายที่อ้างถึง)..ได้วางหลักไว้ว่า..." - วิเคราะห์และนำเอาอุทาหรณ์รวมทั้งข้อเท็จจริงในข้อสอบมาปรับใช้กับหลักกฎหมายที่ยกมาข้างต้น - สรุป โดยการตอบประเด็นที่ข้อสอบถามมาให้ครบทุกข้อด้วยข้อความสั้นๆ กระชับ เข้าใจง่าย ตัวอย่างการตอบข้อสอบ(ข้อสอบจริง) วิชา LW 208 ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ หนุ่ยหลงรักน้อย และสืบทราบมาว่าน้อยเป็นคนรักสุนัขมาก ในวันปีใหม่หนุ่ยจึงไปซื้อสุนัขตัวเล็กซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ดุและวาง ขายอยู่ที่สวนจตุจักร จากนั้นจึงอุ้มนำไปมอบให้น้อยเป็นของขวัญทันที ขณะที่น้อยรับสุนัขมาจากหนุ่ยนั้นเอง ปรากฎว่าสุนัขตกใจจึง กัดน้อยได้รับบาดเจ็บ หนุ่ยจึงคว้าไม้คานของแจ๋วตีสุนัขจนตาย และไม้คานของแจ๋วหักกระเด็น ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า น้อยจะเรียก ร้องให้หนุ่ยรับผิดในเหตุละเมิดทำให้สุนัขตายได้หรือไม่ อย่างไร และแจ๋วจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในการที่ไม้คานของตนหักเสีย หายได้หรือไม่ อย่างไร เราจะเห็นว่าข้อสอบถามมาโดยมีประเด็น 2 ประเด็น คือ - น้อยจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในเหตุละเมิดทำให้สุนัขตายได้หรือไม่ ถ้าได้ ทำไมถึงได้ และถ้าไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ - แจ๋วจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในการที่ไม้คานของตนหักได้หรือไม่ ถ้าได้ ทำไมถึงได้ และถ้าไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ จะเห็นว่าข้อสอบถามมาว่า เป็นละเมิด หรือไม่? เราจึงควรต้องวิเคราะห์ก่อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นละเมิดหรือเปล่า?แล้ว จึงตอบประเด็นที่ถามมา เอาล่ะ เรามาตอบข้อสอบกันเลยครับ ป.พ.พ. มาตรา 420 "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกาย ก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 2 และ 3 "ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตราย อันมีมาแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมี มาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุบุคคลเช่นนี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกิน สมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้" ตามอุทาหรณ์ การที่หนุ่ยส่งมอบสุนัขให้กับน้อย และน้อยได้รับสุนัขมาจากหนุ่ยแล้วนั้น ถือได้ว่าน้อยเป็นเจ้าของสุนัขตัว นั้นแล้ว ไม่ใช่หนุ่ย ดังนั้นการที่สุนัขกัดน้อยได้รับบาดเจ็บ แล้วหนุ่ยใช้ไม้ตีไปที่สุนัขจนตายนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อน้อยแล้ว เพราะสุนัขตัวนั้นได้ตกเป็นทรัพย์สินของน้อยแล้ว จึงเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และน้อยก็สามารถเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิด ในกรณีละเมิดนี้ได้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า สุนัขตัวนั้นมีขนาดเล็กและยังเป็นพันธุ์ที่ไม่ดุ ดังนั้นการที่หนุ่ยใช้ไม้ตีสุนัขจนตาย เพื่อ ป้องกันภยันตรายจากสุนัขตัวนั้นเอง จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ หนุ่ยจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรค 3 หนุ่ยต้องรับผิดฐานละเมิดต่อน้อย ส่วนในกรณีของแจ๋วนั้น ถือได้ว่าหนุ่ยทำละเมิดต่อแจ๋วตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เช่นกัน เพราะไม้คานนั้นเป็นของแจ๋ว แต่ เนื่องจากหนุ่ยทำเพื่อป้องกันภยันตรายอันมีมาแก่น้อย(เอกชน)โดยฉุกเฉิน จึงได้รับนิรโทษกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 2 หนุ่ยต้องใช้ราคาไม้คานนั้นให้แก่แจ๋ว แจ๋วสามารถเรียกร้องให้หนุ่ยใช้ราคาไม้คานได้ สรุป น้อยจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดฐานละเมิดทำให้สุนัขตายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เพราะสุนัขตัวนั้นได้ตกเป็นของ น้อยแล้ว และหนุ่ยก็ได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 3 แจ๋วจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในการที่ไม้คานของตนหักได้ เพราะถึงแม้หนุ่ยจะได้รับนิรโทษกรรมแล้ว แต่หนุ่ยก็ยังต้องใช้ ราคาไม้คานให้แก่แจ๋วอยุ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 2 เสร็จแล้วครับ จะเห็นได้ว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องตอบให้มันยาวๆเยิ่นเย้อเลย แต่เราต้องตอบให้ตรงคำถาม และอธิบายให้ตรง จุด แค่นี้เองครับ
4. อย่าลืมว่าเราต้องตอบให้อาจารย์อ่านออกด้วย ลายมือจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอาจารย์ท่านต้อง ตรวจข้อสอบเป็นพันๆฉบับ ถ้าท่านอ่านลายมือของเราไม่ออก ท่านคงไม่มานั่งแกะลายมืออยู่หรอกครับ ถึงแม้เราจะตอบถูกก็เถอะ
5. ไม่ควรตอบข้อสอบให้ยาวเยิ่นเย้อเกินความจำเป็น เพราะเวลาอาจารย์ให้คะแนน ท่านไม่ได้ดูว่าเราเขียนมา ได้กี่หน้า แต่ท่านจะดูว่า ไอ้ที่เราตอบมานั่นน่ะ มันตรงกับที่ข้อสอบถามไว้หรือเปล่า และเราสามารถปรับข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ให้ เข้ากับหลักกฎหมายที่เรายกมาได้หรือไม่ ฉะนั้น ใครที่คิดว่าเขียนให้มันเยอะๆไว้ก่อนจะได้เปรียบน่ะ คิดซะใหม่นะครับ
6. เวลาเขียนคำตอบ ควรที่จะมีย่อหน้า เว้นวรรคด้วย ไม่ใช่เขียนติดกันเป็นพืด อาจารย์อาจจะตาลายจนไม่ อยากตรวจข้อสอบของเราเลยก็ได้
7. ควรทำข้อสอบให้ครบทุกข้อ แม้แต่ข้อที่เราทำไม่ได้ก็ตาม เพราะบางทีอาจารย์ท่านอาจจะให้ "คะแนนค่า นํ้าหมึก" ติดมาด้วยสัก 2-3 คะแนน แล้วคะแนนตรงนี้นี่แหละครับ อาจจะช่วยเราจาก F เป็น P หรือจาก P เป็น G เลยก็ได้!!(ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่!!)
8. เมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว ต้องตรวจคำตอบที่เราตอบไปด้วย เพราะอาจจะมีบางอย่างที่เราตกหล่นไป รวม ทั้งต้องตรวจ "เลขมาตรา" ที่เขียนลงไปด้วยว่าถูกชัวร์หรือเปล่า(สำคัญมาก!!)
9. เมื่อคิดว่าทำข้อสอบเสร็จหมดทุกข้อแล้ว ก็เดินไปส่งสมุดคำตอบให้อาจารย์ที่คุมสอบเลยครับ
เวลาที่เราลำบาก ให้นึกถึงคนที่ลำบากกว่าเรา

2 ความคิดเห็น: