วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

20 คำถาม ?กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน

ข้อ 1 หนึ่งทราบว่าที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของตนถูกสองครอบครองปรปักษ์เสียแล้ว หนึ่งจึงขายที่ดินนั้นแก่สาม ภายหลังการจดทะเบียนโอนแล้วสามจึงทราบว่าสองครอบครองที่ดินนั้นอยู่ สามจึงขายที่ดินนั้นต่อให้สี่โดยมีข้อสัญญาว่าให้สี่เป็นผู้ดำเนินการขับไล่สองเอง เมื่อจดทะเบียนโอนแล้วสี่จึงยื่นคำขาดให้สองออกไปจากที่ดินนั้นภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสองจะมีข้อต่อสู้อย่างไรหรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1299 วรรค 2 ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตามปัญหา สามซื้อที่ดินจากหนึ่งโดยภายหลังจากจดทะเบียนโอนแล้วจึงทราบว่าสองครอบครองที่ดินนั้นอยู่ แสดงว่าในขณะที่จดทะเบียนโอน สามยังไม่ทราบว่าสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินนั้น จึงถือว่าสามเป็นผู้ซื้อโดยสุจริต ดังนี้สามจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว สิทธิครอบครองปรปักษ์ของสองนั้นเมื่อยังมิได้จดทะเบียนจึงยกเป็นข้อต่อสู้สามไม่ได้ตาม ปพพ. มาตรา 1299 วรรค 2 ดังกล่าว สี่เป็นผู้รับโอนที่ดินนั้นต่อจากสาม เมื่อสามซึ่งเป็นผู้โอนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว สี่ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับสามผู้โอน โดยไม่ต้องวิเคราะห์ว่าสี่จะเป็นผู้ได้สิทธิโดยเสียค่าตอบแทน หรือโดยสุจริตหรือไม่ สี่จึงมีสิทธิดีกว่าสองผู้ครอบครองปรปักษ์(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1015/2485)ดังนั้น สองจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด
ข้อ 2 สมชายทะเลาะกับแฟนสาวและโกรธที่แฟนสาวคืนแหวนทองซึ่งตนให้เป็นของขวัญจึงขว้างแหวนทองนั้นทิ้งไปในกองขยะแล้วจากไป สมศรีเห็นเหตุการณ์จึงเข้าไปค้นหาจนพบแหวนทองนั้น สุดสวยอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเห็นว่าแหวนทองนั้นสวยมากจึงขอซื้อ สมศรีเกรงว่าเก็บไว้อาจมีปัญหายุ่งยากจึงขายแหวนทองนั้นให้สุดสวยไป วันรุ่งขึ้น สมชายนึกเสียดายแหวนทองนั้นจึงกลับไปหาที่เดิมและทราบความจริงว่า สุดสวยเป็นคนรับซื้อแหวนทองนั้นไว้ สมชายจึงตามไปทวงแหวนนั้นคืนจากสุดสวย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสุดสวยจะมีข้อต่อสู้อย่างไรหรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ.มาตรา 1319 ถ้าเจ้าของสังหาริมทรัพย์เลิกครอบครองทรัพย์ด้วยเจตนาสละกรรมสิทธิไซร้ ท่านว่าสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีเจ้าของมาตรา 1318 บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิแห่งสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของโดยเข้าถือเอา เว้นแต่การเข้าถือเอานั้นต้องห้ามตามกฎหมาย หรือฝ่าฝืนสิทธิของบุคคลอื่นที่จะเข้าถือเอาสังหาริมทรัพย์นั้นตามปัญหา สมชายทะเลาะกับแฟนสาวและโกรธที่แฟนสาวคืนแหวนทองซึ่งตนให้เป็นของขวัญ จึงขว้างแหวนทองนั้นทิ้งไปในกองขยะ ถือได้ว่าสมชายเลิกครอบครองสังหาริมทรัพย์ด้วยเจตนาสละกรรมสิทธิแล้ว แหวนทองนั้นจึงเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ตาม ปพพ.มาตรา 1319 ดังกล่าว สมศรีเข้าไปค้นหาจนพบแหวนทองนั้น จึงถือได้ว่าสมศรีได้มาซึ่งกรรมสิทธิแห่งแหวนทองนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของ โดยเข้าถือเอา ตาม ปพพ. มาตรา 1318 ดังกล่าว สุดสวยเป็นผู้รับซื้อแหวนทองนั้นจากสมศรีผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ สุดสวยจึงได้กรรมสิทธิในแหวนทองนั้นโดยชอบ ฉะนั้น สุดสวยจึงมีข้อต่อสู้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว
ข้อ 3 นาย ก. ไปทำงานในต่างประเทศและมีภรรยาใหม่ที่นั่น จึงขาดการติดต่อกับนาง ข.ภรรยาเดิม ต่อมานาง ข. ขัดสนมากจึงแอบอ้างไปเอาช้างของนาย ก. ซึ่งนาย ก. ฝากญาติเลี้ยงไว้โดยบอกว่านาย ก. ให้มาเอาคืน แล้วนำช้างนั้นไปขายให้นาย ค. โดยบอกว่าตนเป็นเจ้าของช้างเอง นาย ค. ไม่ทราบเรื่องเข้าใจว่าจริง จึงรับซื้อไว้โดยมิได้มีการโอนกันทางทะเบียนแต่ประการใด 6 ปีต่อมานาย ก. กลับจากต่างประเทศและทราบเรื่องดังกล่าวจึงไปทวงช้างนั้นคืนจากนาย ค. โดยแจ้งว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง อีกทั้งการซื้อขายสัตว์พาหนะ เมื่อไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นาย ค.จะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยความเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้ตามปัญหา ค. ซื้อช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะจาก ข. โดยมิได้มีการโอนกันทางทะเบียนการซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย แต่เนื่องจาก ค. รับซื้อช้างนั้นไว้โดยมิทราบว่าข. มิใช่เจ้าของที่แท้จริงจึงถือได้ว่า ข. ได้ครอบครองช้างซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยสุจริต ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยได้ครอบครอบติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปีซึ่งเกินกว่า 5 ปีตามกฎหมาย และไม่ปรากฏว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ หรือไม่เปิดเผยแต่ประการใด ค จึงได้กรรมสิทธิ์ในช้างนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ปพพ. มาตรา 1382 ดังกล่าวฉะนั้น ค. จึงมีข้อต่อสู้ ข ได้โดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ตามหลักกฎหมายดังกล่าว
ข้อ 4 จันทร์ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้อังคารนำที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งไปจำนอง แต่อังคารได้แก้ไขหนังสือมอบอำนาจนั้น แล้วไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ตนเองหลังจากนั้นอังคารได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายพุธ โดยพุธไม่ทราบเรื่องความเป็นมาและได้จ่ายเงินค่าซื้อฝากไปเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า จันทร์จะมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและขายฝากดังกล่าวได้หรือไม่โดยอาศัยบทกฎหมายใด?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย”ตามปัญหา การที่จันทร์ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้อังคารนำที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งไปจำนอง แต่อังคารกลับแก้ไขหนังสือมอบอำนาจนั้น แล้วนำไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ตนเองนั้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ดังนั้น ถือว่านิติกรรมโอนขายที่ดินดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นของจันทร์อยู่ อังคารไม่มีสิทธิใดที่จะนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายฝากได้ แม้พุธจะได้ซื้อฝากโดยจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วและกระทำการโดยสุจริต ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิใดซึ่งเป็นไปตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(คำพิพากษาฎีกาที่ 1048/2536)ฉะนั้น จันทร์เจ้าของกรรมสิทธิจึงมีสิทธิติดตามเอาคืนโดยฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและขายฝากดังกล่าวได้ โดยอาศัยอำนาจของเจ้าของกรรมสิทธิตามมาตรา 1336 ดังกล่าว
ข้อ 5 เสนอให้สนองอยู่อาศัยทำกินในที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของตนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าสนองอยู่ทำกินได้ 2 ปี ก็ไปขอให้ทางราชการออก สทก. (หนังสืออนุญาตให้ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินในที่ดินได้ชั่วคราว) ให้แก่ตนเองโดยนายเสนอไม่ทราบเรื่อง อีก 10 ปีต่อมา เสนอต้องการใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว จึงขอให้สนองย้ายออกไปแต่สนองไม่ยอมโดยต่อสู้ว่าตนได้สิทธิครอบครองโดยชอบแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า เสนอจะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตามปัญหา การที่เสนอให้สนองอยู่อาศัยทำกินในที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของตนโดยไม่ต้องเสียค่าเช่านั้น เห็นได้ว่าสนองอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเสนอ ถือว่าสนองยึดถือที่ดินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง แม้สนองจะไปขอให้ทางราชการออก สทก.1 ให้แก่ตนเองก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เช่นนี้แม้สนองจะไปขอให้ทางราชการออกหนังสือดังกล่าวช้านานเพียงใด ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ขึ้น สนองยังคงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองอยู่นั่นเอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1720/2536)ฉะนั้น ตราบใดที่สนองยังมิได้บอกกล่าวไปยังเสนอว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินดังกล่าวแทนเสนออีกต่อไป แม้สนองจะยึดถืออยู่นานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง เสนอจึงมีข้อต่อสู้ตามมาตรา 1381 ดังกล่าว
ข้อ 6 สุกทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่ใส แต่สุกผิดสัญญา ใสจึงฟ้องสุกให้โอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้ตามสัญญา ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้สุกโอนที่ดินให้แก่ใส แต่ในขณะที่ยังมิได้ทำการโอนกัน เจ้าหนี้ของสุกได้ฟ้องสุกและจะบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนี้ใสจะมีข้อต่อสู้เจ้าหนี้ของสุกอย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1300 “ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้”ตามปัญหา การที่สุกทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่ใสนั้น สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวก่อให้เกิดเพียงบุคคลสิทธิ ยังไม่ทำให้ใสเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้สุกโอนที่ดินให้แก่ใสแล้ว แม้จะยังมิได้จดทะเบียนโอน ใสก็เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว ตาม ปพพ. มาตรา 1300 ดังกล่าว เจ้าหนี้ของสุกจะบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางเสียเปรียบแก่ใสไม่ได้ ( คำพิพากษาฎีกาที่4137/2533 )ฉะนั้น ใสจึงมีข้อต่อสู้เจ้าหนี้ของสุกได้ โดยยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 1300 ดังกล่าว
ข้อ 7 เกศได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ยังมิได้นำไปจดทะเบียนต่อมาเกล้าได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวตามพินัยกรรม เกล้าจึงได้แจ้งให้เกศออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิฉัยว่าเกศจะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1300 “ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้”ตามปัญหา เกศได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งโดยการครอบครองโดยปรปักษ์แล้วแต่ยังมิได้นำไปจดทะเบียน เกศจึงเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตามมาตรา 1300 ดังกล่าว การที่เกล้าจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวตามพินัยกรรม จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่เกศผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ในเมื่อเกล้าได้รับโอนโดยทางมรดกซึ่งเป็นการได้มาโดยเสน่หามิได้มีค่าตอบแทน แม้จะได้จดทะเบียนรับโอนแล้ว เกศก็เรียกให้เพิกถอนทางทะเบียนได้ ( เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1886/2536 )ฉะนั้น เกศจึงมีข้อต่อสู้โดยฟ้องให้เพิกถอนทางทะเบียนได้ตามมาตรา 1300 ดังกล่าว
ข้อ 8 สีให้แสงเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของตนโดยคิดค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งข้าวเปลือกจากการทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาสีถึงแก่กรรม จากนั้นแสงก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าและแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินเสียเองอีก 5 ปี ต่อมาสวยทายาทผู้รับมรดกของสีทราบเรื่องจึงยื่นคำขาดให้แสงออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวมิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าแสงจะมีข้อต่อสู้หรือไม่ อย่างไร?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก”ตามปัญหาแสงเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากสี โดยเสียค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งข้าวเปลือกจากการทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าว แสงจึงเป็นบุคคลผู้ยึดถือที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนสี ผู้ครอบครองตามมาตรา 1381 ดังกล่าว แสงจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยการบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองอีกต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก ในเมื่อแสงเพียงแสดงตนเป็นเจ้าของโดยมิได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครอง และมิได้อำนาจใหม่จากบุคคลภายนอกแต่ประการใด แม้แสงจะยึดถือที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง (เทียบคำพิพากษาคดีฎีกาที่ 699/2536)ฉะนั้น แสงจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามนัยสำคัญแห่งมาตรา 1381 ดังกล่าว
ข้อ 9 บริษัท ก. ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์บริษัท ก. ได้ซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายแดงซึ่งนำมาขาย ณ ที่ทำการของบริษัท แต่แท้จริงแล้วรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของบริษัท ข. ซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เช่นเดียวกัน แต่รถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายฉ้อโกงไปเมื่อ 3 ปีก่อน บริษัท ข. ทราบเรื่องจึงได้ทวงรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากบริษัท ก. ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า บริษัท ก. จะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้า ซึ่งขายของชนิดนั้นไม่จำต้องคืนแก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”ตามปัญหา บริษัท ก. ได้ซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายแดงซึ่งนำมาขาย ณ ที่ทำการของบริษัท ดังนี้บริษัท ก. จึงมิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินมาจากการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด และไม่ปรากฏว่านายแดงเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นแต่ประการใด บริษัท ก. จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดถือรถยนต์คันดังกล่าวไว้ตาม มาตรา 1332 ดังกล่าว บริษัท ก. ต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แกบริษัท ข. เจ้าของที่แท้จริงโดยไม่ได้รับการคุ้มครองในส่วนของราคาที่ซื้อมาแต่ประการใด (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 493/2536)ฉะนั้น บริษัท ก. จึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามนัยสำคัญแห่งมาตรา 1332 ดังกล่าว
ข้อ 10 ที่ตื้นเขินชายตลิ่งแห่งหนึ่งซึ่งน้ำท่วมถึงราวปีละ 3 เดือน เพชรได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ตื้นเขินนั้นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ส่วนพลอยเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่ติดชายตลิ่งนั้น ทั้งเพชรและพลอยต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ตื้นเขินดังกล่าว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าเพชรหรือพลอยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ตื้นเขินชายตลิ่งดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น…(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบมาตรา 1305 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามปัญหา ที่ตื้นเขินชายตลิ่งซึ่งน้ำท่วมถึงนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2) ดังกล่าว ที่ตื้นเขินนั้นจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่ง ฉะนั้นพลอยเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่ติดชายตลิ่งนั้นจึงหาได้กรรมสิทธิ์ในที่ตื้นเขินนั้นไม่(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 350/2522) เมื่อที่ตื้นเขินนั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินผู้ใดเข้าครอบครองเป็นเวลานานเท่าใด ก็หาอาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินได้ไม่ ตามมาตรา1306 ดังกล่าว ฉะนั้น แม้เพชรจะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ตื้นเขินนั้นเป็นเวลากว่า 10ปีแล้ว ก็หาได้กรรมสิทธิ์แต่อย่างใดไม่ฉะนั้น ทั้งเพชรและพลอยหาได้กรรมสิทธิ์ในที่ตื้นเขินชายตลิ่งนั้นไม่ ตามมาตรา 1304(2) และมาตรา 1306 ดังกล่าว
ข้อ 11 ปูเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งมีเนื้อที่ 10 ไร่ เป็นที่ตาบอดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ปูได้แบ่งขายที่ดินจำนวน 3 ไร่ ให้แก่ปลาโดยจดทะเบียนโอนกันเรียบร้อยแล้ว ต่อมาทางราชการได้ตัดถนนผ่านหน้าที่ดินของปูแต่ไม่ผ่านที่ดินของปลา ด้วยเหตุนี้ปลาจึงเรียกให้ปูเปิดทางจำเป็นให้ตนผ่านออกสู่ถนนสาธารณะ โดยอ้างสิทธิไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามกฎหมาย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างไม่ต้องเสียค่าทดแทนของปลารับฟังได้หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1350 ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน เป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนและไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามปัญหา ปูได้แบ่งขายที่ดินให้แก่ปลาโดยจดทะเบียนโอนกันเรียบร้อยแล้ว ต่อมาทางราชการจึงได้ตัดถนนผ่านหน้าที่ดินของปู เช่นนี้เห็นได้ว่าทางสาธารณะได้เกิดขึ้นภายหลังจากได้แบ่งแยกที่ดินแล้ว มิใช่กรณีแบ่งแยกที่ดินเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะ อันเป็นผลให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ไม่มีทางออกนั้นมีสิทธิเรียกเอาทางเดินบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามมาตรา 1350 กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปลาจึงเรียกให้ปูเปิดทางจำเป็นให้ตนผ่านออกสู่สาธารณะ โดยอ้างสิทธิไม่ต้องเสียค่าทดแทนไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 629/2522)ฉะนั้น ข้ออ้างไม่ต้องเสียค่าทดแทนของปลาจึงหารับฟังได้ไม่
ข้อ 12 กิ่งยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินผืนหนึ่งโดยเข้าใจเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่แท้จริงแล้วที่ดินผืนนั้นเป็นส่วนหนึ่งในเขตที่ดินมือเปล่าของแก้ว อีกปีเศษต่อมา กิ่งนำรถไปไถที่ดินนั้นเพื่อเข้าทำประโยชน์ แก้วทราบเรื่องจึงยื่นคำขาดให้หยุดกระทำการและขนย้ายทรัพย์สินออกไป ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า กิ่งจะมีข้อต่อสู้อย่างใด หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1375 เข้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามปัญหา การที่กิ่งยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินในเขตที่ดินมือเปล่าของแก้วนั้น เห็นได้ว่ากิ่งยังมิได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อกิ่งนำรถไปไถที่ดินนั้นเพื่อเข้าทำประโยชน์จึงถือได้ว่าการแย่งการครอบครองได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ระยะเวลาการแย่งการครอบครองยังไม่ครบปีหนึ่ง แก้วจึงยังไม่ขาดสิทธิในการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามมาตรา 1375 ดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 596/2530)ฉะนั้น กิ่งจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามนัยแห่งมาตรา 1375 ดังกล่าว
ข้อ 13 หมอกซื้อที่ดิน น.ส.3 แปลงหนึ่งจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาล โดยไม่ทราบว่าที่ดินนั้นเป็นทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกัน หมอกได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลาปีเศษก็ถูกทางราชการยื่นคำขาดให้ออกไปจากที่ดินนั้น ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าหมอกจะมีข้อต่อสู้อย่างใด หรือไม่?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1304 สาธารณสมบัติแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น…(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามปัญหา ที่ดินซึ่งเป็นทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกันนั้นเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2) ดังกล่าว เมื่อที่ดินที่หมอกซื้อเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้หมอกจะซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลโดยสุจริต หมอกก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินแปลงนั้น เพราะสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2622/2522)ฉะนั้น หมอกจึงไม่มีข้อต่อสู้แต่ประการใด ตามมาตรา 1304 (2) และมาตรา 1305 ดังกล่าว
ข้อ 14 เสือสร้างบ้านหลังหนึ่งแต่ได้ทำถังส้วมซีเมนต์รุกล้ำเข้าไปฝังอยู่ในที่ดินของช้าง โดยเข้าใจว่าอยู่ในเขตที่ดินของตนเอง เมื่อมีการรังวัดตรวจสอบเขตจึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เสือจึงเสนอเงินค่าตอบแทนแก่ช้างเป็นค่าใช้ที่ดิน แต่ช้างไม่ยอมและยืนยันให้เสือรื้อถอนออกไป ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า เสือจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างใด หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ.มาตรา 1312 วรรค 1 บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนเป็นภารจำยอม…ตามปัญหา เสือทำถังส้วมซีเมนต์รุกล้ำเข้าไปฝังอยู่ในที่ดินของช้างโดยเข้าใจว่าอยู่ในเขตที่ดินของตนเอง แต่ถังส้วมซีเมนต์มิใช่โรงเรือนและอยู่นอกโรงเรือนไม่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนแม้เสือจะกระทำโดยสุจริตก็ไม่ได้รับ การคุ้มครองตามมาตรา 1312 วรรค 1 ดังกล่าว แม้เสือจะเสนอเงินตอบแทนแก่ช้างเป็นค่าใช้ที่ดิน แต่ช้างไม่ยอม เสือก็ต้องรื้อถอนถังส้วมซีเมนต์นั้นออกไป (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2316/2522)ฉะนั้น เสือจึงไม่ได้การคุ้มครองตามมาตรา 1312 วรรค 1 แต่ประการใด
ข้อ 15 ขนุนปลอมหนังสือมอบอำนาจของบิดา ไปจดทะเบียนโอนขายเรือนแพให้แก่ทุเรียน โดยทุเรียนไม่ทราบ เข้าใจว่าเป็นการโอนโดยชอบ อีก 6 ปีต่อมา บิดาของขนุนทราบเรื่องจึงเรียกให้ทุเรียนส่งมอบเรือนแพนั้นคืนแก่ตน มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าทุเรียนจะมีข้อต่อสู้อย่างไรหรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
ตามปัญหา
ทุเรียนซื้อเรือนแพจากขนุน และได้จดทะเบียนโอนกันเรียบร้อย โดยทุเรียนไม่ทราบว่าขนุนปลอมหนังสือมอบอำนาจของบิดา เข้าใจว่าเป็นการโอนโดยชอบ จึงเห็นได้ว่าทุเรียนกระทำโดยสุจริต และได้ครอบครองเรือนแพนั้นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ และไม่ปรากฏว่าทุเรียนครอบครองโดยไม่สงบหรือโดยไม่เปิดเผยแต่ประการใด แม้เรือนแพนั้นจะมิใช่ของขนุนผู้ขาย แต่เมื่อทุเรียนมิได้ครอบครองแทนผู้อื่น แต่ได้ครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสำหรับเรือนแพซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินห้าปีทุเรียนจึงได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 ดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 969/2536)ฉะนั้น ทุเรียนจึงมีข้อต่อสู้โดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตามมาตรา 1382 ดังกล่าว
ข้อ 16 บุญมาให้บุญมีเข้าทำกินในที่ดินมือเปล่าของตนแทนการชำระดอกเบี้ย บุญมีเห็นว่าอย่างไรเสียก็ไม่ได้รับชำระหนี้แน่จึงได้ไปขอออก น.ส. 3 ก. ในที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของตน จนปีเศษต่อมา บุญมาทราบเรื่องจึงยื่นคำขาดให้บุญมีออกไปจากที่ดินดังกล่าว มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าบุญมีจะมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตามปัญหา บุญมาให้บุญมีเข้าทำกินในที่ดินมือเปล่าของตนแทนการชำระหนี้ดอกเบี้ยนั้นเห็นได้ว่าบุญมีได้ยึดถือที่ดินดังกล่าวอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนบุญมาผู้ครอบครอง การที่บุญมีไปขอออก น.ส.3 ก. ในที่ดินนั้นเป็นชื่อของตนโดยเห็นว่าอย่างไรเสียก็ไม่ได้ชำระหนี้แน่นั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวไปยังบุญมาผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินดังกล่าวแทนบุญมาผู้ครอบครองต่อไป จึงยังมิใช่การแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ปพพ. มาตรา1381 แต่ประการใด ดังนี้แม้บุญมีจะยึดถือที่ดินนั้นเป็นเวลาช้านานเพียงไรก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3417/2527)ดังนั้น บุญมีจึงไม่มีข้อต่อสู้บุญมาแต่ประการใด
ข้อ 17 ขาวได้กรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของแดงโดยการครอบครองปรปักษ์มาเป็นเวลานานแล้วแต่มิได้จดทะเบียน ต่อมาแดงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่เขียว โดยเขียวทราบว่าขาวครอบครองที่ดินส่วนนั้นอยู่แล้ว แต่สำคัญผิดว่าเป็นที่ดินนอกโฉนดและเข้าใจว่าเป็นที่ดินของขาวเอง ภายหลังจากจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนั้นแล้ว เขียวจึงทราบว่าที่ดินส่วนที่ขาวครอบครองนั้นอยู่ในเขตโฉนดที่ซื้อจากแดง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าขาวจะเพิกถอนการจดทะเบียนของเขียวในส่วนที่ดินที่ตนครอบครองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1300 ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
ตามปัญหา
ขาวได้กรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของแดงโดยการครอบครองปรปักษ์มาเป็นเวลานานแล้วแต่มิได้จดทะเบียน ต่อมาแดงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่เขียว เมื่อเขียวทราบว่าขาวครอบครองที่ดินส่วนนั้นอยู่แล้วย่อมถือได้ว่าเขียวเป็นผู้รับโอนโดยไม่สุจริต แม้เขียวจะสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินอยู่นอกโฉนดและเข้าใจว่าเป็นที่ดินของขาวเองก็ไม่อาจเป็นข้ออ้างที่จะทำให้เขียวเป็นผู้จดทะเบียนรับโอนโดยสุจริตได้แต่ประการใด ฉะนั้นการจดทะเบียนดังกล่าวจึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ขาวผู้ครอบครองปรปักษ์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนอยู่ก่อนตาม ปพพ. มาตรา 1300 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 265/2530)ดังนั้น ขาวจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนของเขียวในส่วนที่ดินที่ตนครอบครองได้
ข้อ 18 กมล กวินทว์ และกระจ่าง ออกเงินกันคนละสามแสนบาท สองแสนบาท และหนึ่งแสนบาทตามลำดับ ร่วมกันซื้อรถตู้คันหนึ่งราคาหกแสนบาท เพื่อวิ่งรับส่งคนโดยสารระหว่างหลักสี่ –ปากเกร็ด หลังจากวิ่งรถได้สองปี กวินทร์ได้เสนอความเห็นว่าควรเปลี่ยนเส้นทางเดินจากเดิมเป็นปากเกร็ด – หมอชิต เนื่องจากมีผู้โดยสารมากกว่า ส่วนกมลเสนอความเห็นว่าควรขายรถตู้คันดังกล่าวแล้วนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วนเนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงนี้ไม่ดี ทั้งสามคนได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ปรากฏผลดังนี้ กระจ่างเห็นว่าควรเปลี่ยนเส้นทางเดินรถและไม่ควรขายรถ กมลเห็นว่าไม่ควรเปลี่ยนเส้นทางเดินรถแต่ควรขายรถ กวินทร์เห็นด้วยทั้งสองกรณีว่าจะขายรถหรือจะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถก็ได้ ดังนี้ท่านเห็นว่าจะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถหรือจะขายรถตู้คันดังกล่าวได้หรือไม่เพราะเหตุใด?
เฉลย ตามปพพ. มาตรา 1358 “วรรคสาม” ในเรื่องจัดการอันเป็นสารสำคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนเสียงข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สินการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคนตามปัญหา การที่กมล กวินทร์ และกระจ่าง เป็นเจ้าของรวมในรถตู้คันหนึ่ง โดยกมลมีส่วนราคาสามแสนบาท กวินทร์สองแสนบาท กระจ่างหนึ่งแสนบาท ต่อมามีความประสงค์จะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถจากปากเกร็ด – หลักสี่ เป็นปากเกร็ด – หมอชิต ซึ่งเป็นการจัดการอันเป็นสารสำคัญตาม ปพพ. มาตรา 1358 วรรคสาม ต้องตกลงกันโดยคะแนนเสียงข้างมากและมีส่วนราคาไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าทรัพย์สิน ปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วยสองรายคือ กระจ่างและกวินทร์ซึ่งเป็นเสียงข้างมากและมีส่วนราคารวมกันแล้วได้สามแสนบาทอันไม่ต่ำกว่าครึ่งของราคาทั้งหมดหกแสนบาท ย่อมสามารถกระทำได้ส่วนการขายรถตู้คันดังกล่าวเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกันนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ตาม ปพพ.มาตรา 1358 วรรคสี่ ต้องตกลงกันโดยได้รับความเห็นชอบของเจ้าของรวมทุกคน ปรากฏว่ามีผู้เห็นชอบสองคน คือ กมลกับกวินทร์ส่วนกระจ่างไม่เห็นชอบด้วย แม้ว่ากระจ่างจะมีส่วนราคาหนึ่งแสนบาทน้อยกว่าเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สามารถขายรถตู้คันดังกล่าวได้ดังนั้น เห็นว่าเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถได้ แต่ขายรถตู้คันดังกล่าวไม่ได้ ตามเหตุผลดังกล่าว
ข้อ 19 ชาติยอมออกจากที่ดินมือเปล่าของตนเพราะหลงเชื่อคำบอกกล่าวของเจ้าพนักงานว่าที่ดินนั้นเป็นที่สาธารณะ ภายหลัง 10 ปีเศษต่อมามีการรังวัดสอบเขตที่ดินใหม่ ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวอยู่นอกเขตสาธารณะ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ชาติจะเรียกร้องที่ดินดังกล่าวคืนได้หรือไม่เพระเหตุใด?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1377 ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสิ้นสุดลงถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินไซร์ ท่านว่าการครอบครองไม่สิ้นสุดลงตามปัญหา การที่ชาติยอมออกจากที่ดินมือเปล่าของตนเพราะหลงเชื่อคำบอกกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินนั้นเป็นที่สาธารณะ ภายหลัง 10 ปีเศษต่อมามีการรังวัดสอบเขตที่ดินใหม่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวอยู่นอกเขตที่สาธารณะนั้น เห็นได้ว่าชาติยินยอมออกจากที่ดินดังกล่าวเป็นเวลาถึง 10 ปีเศษแล้ว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันมีสภาพเป็นการชั่วคราวมาขัดขวาง มิให้ชาติยึดถือทรัพย์สินตาม ปพพ. มาตรา 1377 วรรคสอง จึงถือได้ว่าชาติสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือที่ดินนั้นต่อไป การครอบครองของชาติจึงสิ้นสุดลงตาม ปพพ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง(คำพิพากษาฎีกาที่ 2954/2523)ดังนั้น ชาติจะเรียกร้องที่ดินดังกล่าวคืนหาได้ไม่
ข้อ 20 เสือนำพินัยกรรมไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งมาเป็นของตน โดยไม่ทราบว่าเป็นพินัยกรรมปลอม แล้วนำมาจดทะเบียนขายฝากให้แก่ช้าง โดยช้างก็ไม่ทราบเรื่องพินัยกรรมปลอมแต่อย่างใด ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นส่วนที่เป็นมรดกของแมวซึ่งยังมิได้จดทะเบียน ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าแมวจะเรียกให้ช้างส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่ตนได้หรือไม่เพราะเหตุใด?
เฉลย ตาม ปพพ. มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้ามิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามปัญหา การที่เสือนำพินัยกรรมปลอมไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินมีโฉนดปลงหนึ่งมาเป็นของตน แล้วนำไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่ช้างนั้น เห็นได้ว่าเสือไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ ฉะนั้นช้างจึงเป็นผู้รับขายฝากจากผู้ซึ่งไม่มีสิทธิใด ๆ แม้ช้างจะได้จดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักผู้รับโอน ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้รับโอน ฉะนั้น แมวเจ้าของที่แท้จริงจึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากช้างผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ตาม ปพพ. มาตรา 1336 ดังกล่าวดังนั้น แมวจึงเรียกให้ช้างส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่ตนได้ข้อ 21เสนาะและสะอาดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในสวนมะพร้าวแปลงหนึ่งโดยมีส่วนคนละครึ่ง เสนาะได้เข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในสวนมะพร้าวดังกล่าว และเก็บผลมะพร้าวในสวนนั้นขายตลอดมาโดยสะอาดซึ่งอยู่ต่างจังหวัดไม่ทราบเรื่อง ทั้งเสนาะก็ไม่เคยบอกเล่าหรือขออนุญาตจากสะอาดเลย ต่อมาสะอาดทราบเรื่องดังกล่าว ประสงค์จะฟ้องขับไล่เสนาะให้ออกไปจากสวนมะพร้าวและเรียกเงินที่ขายผลมะพร้าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใดเฉลยตามปพพ. มาตรา 1360 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆท่านให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิ์ได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้นตามปัญหา การที่เสนาะและสะอาดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกันในสวนมะพร้าวแปลงหนึ่งโดยมีส่วนคนละครึ่ง เสนาะได้เข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยอยู่ในสวนมะพร้าวดังกล่าวนั้นสามารถกระทำได้เพราะเป็นการใช้ทรัพย์สินในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ตามมาตรา 1360วรรคหนึ่งแห่ง ปพพ. โดยไม่ถือว่าละเมิดต่อสะอาดซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่ง แม้สะอาดจะไม่ทราบเรื่องและเสนาะก็ไม่เคยขออนุญาตก็ตาม เพราะผลมะพร้าวเป็นดอกผลของทรัพย์สินคือสวนมะพร้าวที่เสนาะและสะอาดมีส่วนคนละครึ่ง เมื่อไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา1360 วรรคสองแห่ง ปพพ. ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิ์ได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น สะอาดจึงมีส่วนในเงินค่าขายผลมะพร้าวครึ่งหนึ่งดังนั้น เห็นว่าสะอาดฟ้องขับไล่เสนาะให้ออกไปจากมะพร้าวไม่ได้และสะอาดมีสิทธิ์เรียกร้องเงินค่าขายผลมะพร้าวจากเสนาะได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

การทำข้อสอบ นิติฯ รามคำเเหง!

เป็นที่รู้กันว่า ข้อสอบวิชากฏหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น เป็นข้อสอบแบบ "อัตนัย" หรือพูดง่ายๆก็คือ เป็นข้อสอบแบบเขียนนั่นเอง จึงทำให้บรรดานักศึกษาที่ไม่ถนัดในการทำข้อสอบแบบนี้ ต้องพากันตกแล้ว ตกเล่า ตกโซดา ตกนํ้าแข็ง ฯลฯ จนในที่สุดก็เรียนต่อไปไม่ไหวต้องย้ายไปเรียนคณะอื่น บางคนน่าเจ็บใจยิ่งกว่านั้น จำประมวลกฎหมายได้ทุกมาตรา ตอบถูกทุก ข้อ แต่ก็ยังตก ดังนั้น วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันถึงการทำข้อสอบ ว่าทำยังไง เขียนยังไง ตอบยังไงถึงจะผ่าน มาดูกันเลยครับ
1. อันดับแรกเลยก็คือ เมื่อเราได้รับข้อสอบมาแล้วให้อ่านข้อสอบก่อน อ่านให้ครบทุกข้อ และก็เขียนมาตราที่จะ ต้องใช้ตอบในแต่ละข้อลงไปในข้อสอบด้วย ขั้นตอนนี้ควรจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
2. เริ่มทำข้อสอบ เราไม่ต้องลอกคำถามลงไปในสมุดคำตอบ ให้เขียนคำตอบในแต่ละข้อลงไปได้เลย โดยเราจะ เริ่มทำข้อไหนก่อนก็ได้ แต่ข้อสอบข้อที่เราจะเขียนลงไปในสมุดคำตอบเป็นข้อแรกนั้น ควรจะเป็นข้อที่เราคิดว่าเราทำได้ถูกมากที่สุด แล้วจึงเรียงลำดับลงมาตามการทำได้ของเรา ตัวอย่างเช่น. ข้อสอบมี 4 ข้อ เราดูแล้วเห็นว่าข้อ 3 เราน่าจะทำได้ถูกมากที่สุด, ข้อ 2 รองลงมา, ข้อ 4 นี่ไม่ค่อยแน่ใจ, ข้อ 1 คิดว่าทำไม่ได้ ดังนี้ เราก็ทำข้อ 3 ก่อน ต่อมาก็ข้อ 2, ข้อ 4 แล้วก็ทำข้อ 1 เป็นข้อสุดท้าย เป็น ต้น
3. วิธีการเขียนคำตอบในแต่ละข้อ เราต้องเขียนตามลำดับ คือ - เขียนมาตราของกฎหมายที่จะใช้ในข้อนั้นๆ แต่ถ้าจำเลขมาตราไม่ได้ ก็ให้เขียนแต่เนื้อความของกฎ- หมายก็ได้ครับ โดยเขียนว่า "..(ชื่อประมวลกฎหมายที่อ้างถึง)..ได้วางหลักไว้ว่า..." - วิเคราะห์และนำเอาอุทาหรณ์รวมทั้งข้อเท็จจริงในข้อสอบมาปรับใช้กับหลักกฎหมายที่ยกมาข้างต้น - สรุป โดยการตอบประเด็นที่ข้อสอบถามมาให้ครบทุกข้อด้วยข้อความสั้นๆ กระชับ เข้าใจง่าย ตัวอย่างการตอบข้อสอบ(ข้อสอบจริง) วิชา LW 208 ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ หนุ่ยหลงรักน้อย และสืบทราบมาว่าน้อยเป็นคนรักสุนัขมาก ในวันปีใหม่หนุ่ยจึงไปซื้อสุนัขตัวเล็กซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ดุและวาง ขายอยู่ที่สวนจตุจักร จากนั้นจึงอุ้มนำไปมอบให้น้อยเป็นของขวัญทันที ขณะที่น้อยรับสุนัขมาจากหนุ่ยนั้นเอง ปรากฎว่าสุนัขตกใจจึง กัดน้อยได้รับบาดเจ็บ หนุ่ยจึงคว้าไม้คานของแจ๋วตีสุนัขจนตาย และไม้คานของแจ๋วหักกระเด็น ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า น้อยจะเรียก ร้องให้หนุ่ยรับผิดในเหตุละเมิดทำให้สุนัขตายได้หรือไม่ อย่างไร และแจ๋วจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในการที่ไม้คานของตนหักเสีย หายได้หรือไม่ อย่างไร เราจะเห็นว่าข้อสอบถามมาโดยมีประเด็น 2 ประเด็น คือ - น้อยจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในเหตุละเมิดทำให้สุนัขตายได้หรือไม่ ถ้าได้ ทำไมถึงได้ และถ้าไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ - แจ๋วจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในการที่ไม้คานของตนหักได้หรือไม่ ถ้าได้ ทำไมถึงได้ และถ้าไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ จะเห็นว่าข้อสอบถามมาว่า เป็นละเมิด หรือไม่? เราจึงควรต้องวิเคราะห์ก่อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นละเมิดหรือเปล่า?แล้ว จึงตอบประเด็นที่ถามมา เอาล่ะ เรามาตอบข้อสอบกันเลยครับ ป.พ.พ. มาตรา 420 "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกาย ก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 2 และ 3 "ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตราย อันมีมาแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมี มาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุบุคคลเช่นนี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกิน สมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้" ตามอุทาหรณ์ การที่หนุ่ยส่งมอบสุนัขให้กับน้อย และน้อยได้รับสุนัขมาจากหนุ่ยแล้วนั้น ถือได้ว่าน้อยเป็นเจ้าของสุนัขตัว นั้นแล้ว ไม่ใช่หนุ่ย ดังนั้นการที่สุนัขกัดน้อยได้รับบาดเจ็บ แล้วหนุ่ยใช้ไม้ตีไปที่สุนัขจนตายนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อน้อยแล้ว เพราะสุนัขตัวนั้นได้ตกเป็นทรัพย์สินของน้อยแล้ว จึงเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และน้อยก็สามารถเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิด ในกรณีละเมิดนี้ได้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า สุนัขตัวนั้นมีขนาดเล็กและยังเป็นพันธุ์ที่ไม่ดุ ดังนั้นการที่หนุ่ยใช้ไม้ตีสุนัขจนตาย เพื่อ ป้องกันภยันตรายจากสุนัขตัวนั้นเอง จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ หนุ่ยจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรค 3 หนุ่ยต้องรับผิดฐานละเมิดต่อน้อย ส่วนในกรณีของแจ๋วนั้น ถือได้ว่าหนุ่ยทำละเมิดต่อแจ๋วตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เช่นกัน เพราะไม้คานนั้นเป็นของแจ๋ว แต่ เนื่องจากหนุ่ยทำเพื่อป้องกันภยันตรายอันมีมาแก่น้อย(เอกชน)โดยฉุกเฉิน จึงได้รับนิรโทษกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 2 หนุ่ยต้องใช้ราคาไม้คานนั้นให้แก่แจ๋ว แจ๋วสามารถเรียกร้องให้หนุ่ยใช้ราคาไม้คานได้ สรุป น้อยจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดฐานละเมิดทำให้สุนัขตายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เพราะสุนัขตัวนั้นได้ตกเป็นของ น้อยแล้ว และหนุ่ยก็ได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 3 แจ๋วจะเรียกร้องให้หนุ่ยรับผิดในการที่ไม้คานของตนหักได้ เพราะถึงแม้หนุ่ยจะได้รับนิรโทษกรรมแล้ว แต่หนุ่ยก็ยังต้องใช้ ราคาไม้คานให้แก่แจ๋วอยุ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 450 วรรค 2 เสร็จแล้วครับ จะเห็นได้ว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องตอบให้มันยาวๆเยิ่นเย้อเลย แต่เราต้องตอบให้ตรงคำถาม และอธิบายให้ตรง จุด แค่นี้เองครับ
4. อย่าลืมว่าเราต้องตอบให้อาจารย์อ่านออกด้วย ลายมือจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอาจารย์ท่านต้อง ตรวจข้อสอบเป็นพันๆฉบับ ถ้าท่านอ่านลายมือของเราไม่ออก ท่านคงไม่มานั่งแกะลายมืออยู่หรอกครับ ถึงแม้เราจะตอบถูกก็เถอะ
5. ไม่ควรตอบข้อสอบให้ยาวเยิ่นเย้อเกินความจำเป็น เพราะเวลาอาจารย์ให้คะแนน ท่านไม่ได้ดูว่าเราเขียนมา ได้กี่หน้า แต่ท่านจะดูว่า ไอ้ที่เราตอบมานั่นน่ะ มันตรงกับที่ข้อสอบถามไว้หรือเปล่า และเราสามารถปรับข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ให้ เข้ากับหลักกฎหมายที่เรายกมาได้หรือไม่ ฉะนั้น ใครที่คิดว่าเขียนให้มันเยอะๆไว้ก่อนจะได้เปรียบน่ะ คิดซะใหม่นะครับ
6. เวลาเขียนคำตอบ ควรที่จะมีย่อหน้า เว้นวรรคด้วย ไม่ใช่เขียนติดกันเป็นพืด อาจารย์อาจจะตาลายจนไม่ อยากตรวจข้อสอบของเราเลยก็ได้
7. ควรทำข้อสอบให้ครบทุกข้อ แม้แต่ข้อที่เราทำไม่ได้ก็ตาม เพราะบางทีอาจารย์ท่านอาจจะให้ "คะแนนค่า นํ้าหมึก" ติดมาด้วยสัก 2-3 คะแนน แล้วคะแนนตรงนี้นี่แหละครับ อาจจะช่วยเราจาก F เป็น P หรือจาก P เป็น G เลยก็ได้!!(ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่!!)
8. เมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว ต้องตรวจคำตอบที่เราตอบไปด้วย เพราะอาจจะมีบางอย่างที่เราตกหล่นไป รวม ทั้งต้องตรวจ "เลขมาตรา" ที่เขียนลงไปด้วยว่าถูกชัวร์หรือเปล่า(สำคัญมาก!!)
9. เมื่อคิดว่าทำข้อสอบเสร็จหมดทุกข้อแล้ว ก็เดินไปส่งสมุดคำตอบให้อาจารย์ที่คุมสอบเลยครับ
เวลาที่เราลำบาก ให้นึกถึงคนที่ลำบากกว่าเรา

พระบิดากฎหมายไทย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
"เองกินเหล้าเมายาไม่ว่าดอก
อย่าออกนอกทางไปให้เสียผล
แต่อย่ากินสินบาทคาดสินบน
เรามันชนชั้นปัญญาตุลาการ"
พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็น พระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในสมเด็จพระปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๑๗การศึกษาพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) เมื่อทรงผ่านการศึกษาแล้วได้ ทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้น ในสำนักครูราม สามิ และในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ได้ทรงเข้าศึกษา ภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เปรียญ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรประทับอยู่วัดบวรนิเวศ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๑ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอยู่ในกรุงลอนดอน ๓ ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทรงเลือกศึกษาวิชา กฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช ในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัย ไครส์ตเชิช แล้วได้ ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้ ทรงสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม ในทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯพระราชกรณียกิจด้วยพระปรีชาสามารถอันเป็นอัจฉริยะประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะของพระเจ้าบรมวงศ์ เธอกรมหลวง ราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นเอนกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายไทย กล่าวคือทรงปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ทรงตรวจชำระสะสางกฎหมายทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการสอนกฎหมาย ครั้งแรกทรงรวบรวม และแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่างๆ มากมายทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสิน ความฎีกาซึ่งทำหน้าที่ศาลสูงสุดของประเทศ ทรงตั้ง กองพิมพ์ลายมือขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ สำหรับตรวจ ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเป็นจุดเริ่มต้น ของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจ ในปัจจุบันนอกจาก นั้นในขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิราช ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดินให้เจริญก้าวหน้า เป็นอันมากการรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ* เริ่มรับราชการในสำนักราชเลขานุการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี* เป็นสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ เพื่อจัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมหัวเมืองทั้งปวง และสะสางคดีความทั่วราชอาณาจักร* เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม* เป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย* เป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา* เป็นกรรมการตรวจตำแหน่งพนักงานในรัฐบาล* เป็นกรรมการตรวจร่างกฎหมายลักษณะอาญา* เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ได้ทรงได้รับพระราชทานอนุญาติ ให้ลาพักราชการในตำแหน่งเสนบดีกระทรวงเกษตราธิราชเพื่อรักษาพระองค์ด้วย ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ และเสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส แต่อาการหาทุเลาไม่ ในที่สุดได้เสด็จสิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๖๓ พระชนมายุได้ ๔๗ พรรษาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ ผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งยวด ทรงถือว่าความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะสำหรับนักกฎหมาย และทรงจัดตั้งโรงเรียน กฎหมายและเป็นผู้สอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง เพื่อที่จะให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้นทรงจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ ทรงรวบรวมกฎหมาย และคำพิพากษา ฎีกาพร้อมแต่งตำราอธิบายกฎหมายต่าง ๆ มากมายการค้นคว้ารวบรวมและพระนิพนธ์ ได้เป็นรากฐานก่อตั้งการศึกษานิติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่ประเทศชาติจึงทรงได้รับยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" และเรียกวันที่ ๗ สิงหาคม อันเป็นคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ทุกปีว่า "วันรพี"