วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การพิจารณาคดีแบบใหม่


ปัจจุบันนี้ศาลยุติธรรมต้องปรับระบบการบริหารจัดการคดีแบบใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๖ บัญญัติว่า การนั่งพิจารณาคดีของศาล ต้องมีผู้พากษา หรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยคดีนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอื่น อันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ บทบัญญัติดังกล่าว มีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ในมาตรา ๓๓๕ ว่า ในวาระแรก มิให้นำบทบัญญัติดังกล่าว มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมเป็นเวลา ๕ ปี นับแต่วันประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญนี้ กล่าวคือจะมีการเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นมา

การพิจารณาคดีแบบเดิมนั้นเมื่อโจทก์ฟ้อง จำเลยจะต่อสู้คดี ศาลจะนัดสืบพยานของแต่ละฝ่าย เพียงนัดเดียว เมื่อถึงนัดดังกล่าวนั้น จะได้พิจารณาคดีหรือไม่ก็ตาม ก็จะนัดพิจารณาคดีวันถัดไปห่างกัน ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง แล้วแต่วันว่างของคู่ความที่ตรงกับศาล เมื่อถึงวันนัด ก็จะกำหนดวันนัดถัดไปเรื่อยๆ จนกว่าคดีนั้น จะจบสิ้น ระบบดั้งเดิมนั้นมีการเลื่อนคดีสูงอยู่มาก เนื่องจากปริมาณคดีของศาล มีจำนวนมาก หลายเรื่อง คดีใดประสงค์จะเลื่อนคดี ศาลก็จะอนุญาตให้เลื่อนคดีไป เพราะศาลจะได้พิจารณาคดีอื่น จึงเกิดวัฒนธรรม นัดคดีไว้วันละหลายเรื่อง เผื่อว่ามีการเลื่อนคดีใดคดีหนึ่ง จะได้พิจารณาอีกคดีหนึ่ง คดีบางคดี มีพยานเพียง ๓ ปาก หรือ ๔ ปาก ซึ่งถ้าพิจารณาต่อเนื่องติดต่อกัน จะเสร็จสิ้นภายในวันเดียว หรือสองวัน แต่ระบบเก่านั้น ต้องใช้วันสืบพยาน ๕ - ๖ นัด เพราะต้องเลื่อนคดี โดยไม่ได้มีการสืบพยาน หลายครั้งในแต่ละคดี ด้วยเหตุทนายความขอเลื่อนบ้าง ด้วยเหตุพยาน ไม่มาศาล ด้วยเหตุต่างๆ บ้าง ศาลติดพิจารณาคดีอื่น ซึ่งนัดไว้หลายคดี และทุกคดีพร้อมที่จะเข้าสืบ ทำให้สืบไม่ทันบ้าง มีทนายความ บางท่าน มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของประชาชน ประชาชนต่างก็ไปจ้าง ว่าความคดี จำนวนมาก ไม่สามารถ ไปว่าความทัน ได้ทุกคดี ก็ใช้วิธีการขอเลื่อนคดี เพื่อไปว่าความอีกคดีหนึ่ง ทำให้การจดรายงาน กระบวนพิจารณา และการไปศาลเพื่อไปเลื่อนคดี มากกว่าการไปสืบพยานจริงๆ คู่ความไม่อาจวางแผน ล่วงหน้าได้ว่า คดีจะจบเมื่อใด

เมื่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทำให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีเดิมนั้น เหลือเพียงครึ่งเดียว เพราะต้อง นั่งครบองค์คณะ ๒ นาย หากปล่อยให้การพิจารณาเป็นไปแบบเดิม ก็จะทำให้คดีล้าช้าอีกเท่าตัว ซึ่งคดีบางคดี ที่พิจารณาแบบเดิมนั้น ใช้เวลาพิจารณาคดีทั้งสามศาลเป็นเวลาถึง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง บางคดี เฉพาะศาลชั้นต้น ใช้เวลาถึง ๕ ปี ๖ ปี และเมื่อครบ ๓ ศาลใช้เวลานานนับ ๑๐ ปี บางคดี จำเลย ไม่ได้ประกันตัว แต่สุดท้าย ศาลพิจารณายกฟ้อง ก็ถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานนับ ๑๐ ปี อันไม่เป็นธรรม อย่างยิ่ง

การนัดพิจารณาคดีรวดเดียวต่อเนื่องเสร็จสิ้นนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องจำเลยยื่นคำให้การ ศาลจะนัดสอบถาม ถึงพยานของโจทก์จำเลยว่า มีจำนวนเท่าใด และใช้เวลาสืบพยาน ฝ่ายละกี่วัน แล้วกำหนด จำนวนวัน ดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นลำดับตามเลขคดีไป ช่วงแรกจะไม่ต้องมาศาลเป็นเวลา ๔ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้าง หรือแม้แต่ถึง ๑ ปีบ้าง เพราะต้องการสะสางคดีเก่า ที่ค้างชำระอยู่ให้เสร็จสิ้น แต่เมื่อถึงวันพิจารณา ก็จะพิจารณา ตามวันเวลา นัดรวดเดียว จนจบสิ้นทั้งคดี และพิพากษาคดีไปได้ โดยคู่ความ ทราบวัน จบสิ้นคดีล่วงหน้า

ขณะนี้ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้แยกคดีเป็น ๒ ประเภท คือคดีที่มีข้อยุ่งยากซับซ้อน และคดีไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน สำหรับคดีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่นสถาบันการเงินฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ คดีเช่าซื้อ คดีร้องจัดการมรดก คดีที่จำเลยไม่ยื่นต่อสู้คดี เป็นประเด็นหรือต่อสู้คดีเป็นประเด็น แต่ไม่ได้เป็นประเด็นยุ่งยาก และไม่ได้มีพยาน หลักฐานจำนวนมาก คดีประเภทนี้ศาลจะนัดพิจารณาคดีทุกวันจันทร์ โดยกำหนดปริมาณคดี และเวลานัด ให้เหมาะสมกัน ตามลักษณะพยาน ซึ่งคดีประเภทนี้ จะเสร็จไปในเวลารวดเร็ว ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง ก็จะจบสิ้นไปจากศาล

ส่วนคดีอีกประเภทหนึ่ง คือคดีมีข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณายุ่งยากซับซ้อน จึงต้องนัดพิจารณาคดีต่อเนื่อง เป็นลำดับกันไป โดยเฉพาะที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้มีคณะทั้งหมด ๖ คณะ แต่ละวัน จะนัดคดีเพียง ๖ คดี มีประชาชนมาศาลเพียง ๑๒ รายเท่านั้น ทำให้ปริมาณประชาชน ที่ใช้บริการที่ศาล มีน้อยมาก โรงอาหารที่ศาลขณะนี้ ไม่มีผู้ใช้บริการ จนต้องเลิกการประมูล ห้องขังที่เคยคับแคบ ปัจจุบันนี้โล่ง ห้องน้ำที่ต้องใช้คน ทำความสะอาดจำนวนมาก ในแต่ละวัน ก็ไม่ต้องทำความสะอาด มากเช่นปกติ แผนกต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ขณะนี้ต่างโล่งว่าง มีผู้มาใช้บริการเพียงเล็กน้อย ไม่มากเหมือนสมัยก่อน ที่แต่ละวัน ที่ศาลในช่วงเช้า เปรียบเสมือนตลาดนัด ที่คลาคล่ำ ไปด้วยผู้คน ค่าน้ำ ค่าไฟต่างลดลงทั้งหมด การจราจรก็ดี พนักงานรักษาความปลอดภัยก็ดี ตำรวจศาลก็ดี แม่บ้านก็ดี นักการก็ดีล้วนแต่ งานลดลง แผนกต่างๆ เริ่มลดงาน จนเป็นปกติ เหมือนข้าราชการอื่นๆ

การพิจารณาคดีแบบใหม่นี้ มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายท่าน โดยเฉพาะทนายอัยการ หรือผู้พิพากษา ที่ผ่านการพิจารณา แบบเดิมมาเป็นเวลานาน จนเคยชิน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาคดี โดยวิธีใหม่ เพื่อที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช นับแต่กฎหมายใช้บังคับ ดำเนินการ ๖ เดือนหลังปี ๒๕๔๕ สามารถสืบพยาน ได้มากกว่าในปี ๒๕๔๓ ได้พิจารณาคดีแบบดั้งเดิม ทั้งที่มีอันตรากำลัง ผู้พิพากษาเท่าเดิม คือสืบพยาน ได้จำนวนมากกว่าเก่าถึง ๘๗๗ ปาก คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๑๓ และในปี ๒๕๔๕ สามารถสืบพยาน ได้มากกว่า ๒๕๔๓ ซึ่งใช้ระบบเดิมถึง ๒,๔๒๙ ปาก คิดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๕๕.๗๗ ทำให้สามารถ พิจารณาคดี พิพากษาคดีอาญา ที่มีการสืบพยานยุ่งยากในปี ๒๕๔๔ เพิ่มขึ้น ๒๔๘ คดี คิดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๘๙.๘๖ และ ในปี ๒๕๔๕ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๓ ถึง ๕๘๒ คดี คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๑๐.๘๗

แม้ระบบดังกล่าวนี้ ทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นไปรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง คือ ไม่สามารถ จัดลำดับความสำคัญของคดี ที่พิจารณา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นคดีที่จำเลยต้องขัง ไม่ได้รับ การปล่อยชั่วคราว คดีที่ประชาชนสนใจ หรือคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เป็นต้น เนื่องจากพนักงานอัยการ หรือ ทนายความ มีปริมาณคดีที่ต้องว่าความ จำนวนมาก ทำให้คดีที่ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ แต่มีความสำคัญกว่า คดีที่ค้างเก่า ดังที่ยกตัวอย่างแล้วข้างต้น จะต้องนำมา เรียงลำดับ ต่อคิวคดีที่ฟ้องก่อน การหาวันว่าง ของผู้พิพากษา พนักงานอัยการ และทนายความให้ตรงกันนั้น ก็ยิ่งห่างไกลออกไปบ้างในช่วงแรก

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศาลจึงได้พิจารณาตั้งศูนย์รวมวันนัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของศาล นำวันนัด ของผู้พิพากษา ทุกท่าน มารวมกันที่ศูนย์นัดความแล้วสามารถ นัดพิจารณาคดีต่อเนื่อง เป็นลำดับกันไป โดยคู่ความ เพื่อไม่ให้คดีแต่ละคดีไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทั้งไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ก็ยังจ่ายสำนวนได้เช่นตามปกติ เพราะเมื่อถึงวันนัดคดีนั้น ควรให้ผู้พิพากษาท่านใด เป็นผู้พิจารณา ก็เป็นอำนาจของผู้พิพากษา หัวหน้าศาลเช่นเดิม คดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน หรือคดีที่จำเลย ไม่ได้รับ การปล่อยชั่วคราว ก็จะเข้าในช่องทางด่วน ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหา ดังกล่าว

ผู้เขียนได้พบปะพูดคุยกับท่านวีรพงศ์ สุดาวงศ์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช คนก่อน ซึ่งได้นำระบบการต่อเนื่อง ที่ศาลจังหวัด นครศรีธรรมราช ไปดำเนินการที่ ศาลจังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้พิพากษา เท่าเดิม ท่านแจ้งให้ทราบว่า คดีทั้งหมด อยู่ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้เมื่อนำมาเรียง ต่อกันแล้ว จะเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ ทั้งหมด และในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ ที่นั่งพิจารณา ครบองค์คณะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๔๕ ที่นั่งพิจารณาคดีนายเดียว ปรากฏว่าปี ๒๕๔๖ สืบพยานได้ ๒,๕๒๒ ปาก และสามารถประชุมคดีรับข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องสืบพยานถึง ๗๗๒ ปาก รวม ๓,๒๙๔ ปาก มากกว่า

ปี ๒๕๔๖ ซึ่งสืบพยานได้ ๒,๘๖๖ ปากทำให้คดีตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ เสร็จการพิจารณา ในการสืบพยานมากกว่าช่วงเดียวกันในปี ๒๕๔๕ คดีแพ่ง เสร็จมากกว่า ๔๓๗ เรื่อง คดีอาญา เสร็จมากกว่า ๑๔๔ เรื่องท่านคำนวณ การใช้งบประมาณแผ่นดินว่า ผลงานที่ออกมาในปีแรก ที่นำระบบใหม่ไปใช้ เท่ากับผลงานศาล ที่ทำในระบบเดิมถึง ๓ ปี

สำหรับที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวนี้ เมื่อนำคดีมาเรียงลำดับ ต่อกันแล้วครั้งแรก จะเสร็จภายใน ๑๔ เดือน หลังจากนั้นเพียง ๓ เดือนก็สามารถ ทำให้คดีทั้งหมด เรียงต่อกัน เสร็จสิ้นในเวลา ๑๒ เดือน จนขณะนี้ ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช นำคดีที่ฟ้องใหม่มาเรียงกันแล้ว จะเสร็จสิ้นภายใน ๑๑ เดือน ซึ่งที่ศาลได้ตั้งเป้าหมายว่า ต่อไปเมื่อถึงสิ้นปี จะให้เสร็จ ภายใน ๑๐ เดือน และตั้งเป้าว่าในเดือน เมษายน ๒๕๔๗ จะทำให้คดีเสร็จสิ้นไป ภายในเวลา ๘ เดือน ขณะนี้ผู้เขียนทราบว่า ที่ศาลจังหวัดพังงา คดีที่ฟ้อง ที่ศาลจังหวัดพังงา ทั้งหมด ในขณะนี้ สามารถจะจบสิ้น ภายใน ๖ เดือน ผู้เขียนเห็นว่า ถ้านำวิธี ดังกล่าวนี้ เข้ามาใช้ในสำนักงาน ศาลยุติธรรม อย่างต่อเนื่อง และ พยายาม ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ต่อไปคดี ในศาลยุติธรรม ที่นำมาฟ้องต่อศาลทุกคดี จะสามารถเสร็จสิ้นภายใน ๖ เดือน ได้ทั้งหมด แต่ในช่วงแรก ที่มีการเริ่มต้น เนื่องจาก มีคดีค้างเก่าอยู่จำนวนมาก ต้องสะสาง คดีเก่าด้วย จึงทำให้บุคลากรที่เคยชิน กับการปฏิบัติงานแบบเก่า ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยบ้าง และการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เคยทำ ตามระบบเก่า ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตามวิธีใหม่ ไม่ว่าทนายความ อัยการ ตำรวจ หรือผู้พิพากษาก็ตาม การทำงานดังกล่าว ไม่ได้ทำงานมากขึ้น แต่ตัดลดภาระงาน ที่ไม่จำเป็น และไม่เกี่ยวเนื่อง กับการพิจารณาคดี ออกไปเท่านั้น ไม่ต้องนัดคู่ความมา เพื่อจดรายงานเลื่อนคดี แต่การมาศาลแต่ละวัน สามารถสืบพยาน ได้แน่นอน ผู้พิพากษา ก็สามารถทำงานได้เบาขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องกังวล และเตรียมคดี วันละหลายสิบคดี ดังเช่น ที่เป็นมา ในคดี ทั้งคดีนั้นสามารถพิจารณาติดต่อกันไป สามารถรู้ข้อเท็จจริง และมีสมาธิ และแม่นยำ ในการเขียนคำพิพากษา ได้มากกว่าเดิม และเกิดวัฒนธรรมใหม่ว่า ถ้าได้รับหมายเรียก ให้ไปเบิกความ เมื่อไปได้เบิกความแน่ แต่เมื่อก่อนไม่แน่ จึงเลิกวัฒนธรรม ขอเลื่อนคดีไปก่อน เพราะไปก็ไม่แน่ว่า จะได้เบิกความหรือไม่

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

จรรยาบรรณของทนายความ


ทนายความเป็นนักกฎหมายที่มีความสำคัญมาก เพราะเขาเป็นตัวแทนของตัวความแก้ว่าต่างลูกความในศาล ซึ่งโดยหลักเขามีหน้าที่ 3 ประการคือ
1.) หน้าที่ต่อตัวความ ซึ่งเป็นตัวการที่จะกระทำการแทนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดี
2.) หน้าที่ต่อศาลที่จะต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำสั่ง และปฏิบัติตามคำสั่ง และ
3.) หน้าที่ต่อผู้อื่นที่จะไม่เอา เปรียบกัน 8 หน้าที่ต่อลูกความนั้นแบ่งเป็นระหว่างทนายกับลูกความเองกับหน้าที่ที่จะกระทำการกับบุคคลภายนอกแทนลูกความด้วยความซื่อสัตย์และระมัดระวัง เขาจะต้องรักษาประโยชน์ของลูกความเหมือนกับประโยชน์ของเขาเองและด้วยคุณธรรม ทนายความเดิมอยู่ในความควบคุมของเนติบัณฑิตยสภาเพิ่งแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระเมื่อ 20 ปีเศษมานี่ มีสภาทนายความและมีกรรมการควบคุมมารยาททนายความลงโทษกันเอง ซึ่งมีตั้งแต่ภาคทัณฑ์เป็นอันดับต้น ห้ามว่าความเป็นอันดับสูงขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 ปี และถ้าร้ายแรงก็จะ ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความซึ่งต่างกับประเทศอังกฤษที่ไม่ว่านักกฎหมายประเภทใด ถ้าทำผิดมารยาทแล้วเขาจะไล่ออกไปจากวงการเลย ทนายอังกฤษจึงได้ชื่อว่าสุจริตและมีเกียรติได้รับความเชื่อถือจากมหาชนสูงที่สุด ขนาดเบิกความไม่สาบานศาลก็เชื่อ ดังได้กล่าวมาแล้ว

จรรยาสำหรับทนายความเรียกว่ามารยาททนายความ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2529 มี 21 ข้อ เป็นข้อห้ามทำผิดหน้าที่ ที่มีต่อศาล และต่อลูกความ

ข้อ 1 – ข้อ 4 เป็นบททั่วไป จะไม่นำมาพิมพ์ไว้ในนี้ ส่วนข้อต่อไปนี้เป็นข้อห้ามมิให้กระทำ ทนายผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าผิดมารยาท หากเขาผู้ใดประพฤติตนดังต่อไปนี้ :

ข้อ 5 ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่มีข้อแก้ตัวโดยสมควร

ข้อ 6 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจหรือผู้พิพากษา

ข้อ 7 กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลงหรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

ข้อ 8 สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบทแก่เจ้าพนักงาน

ข้อ 9 กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้

ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้ อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใด ๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดี นั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้

ข้อ 11 เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล

ข้อ 12 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ จงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

ข้อ 13 ได้รับปรึกษาหารือหรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่งแล้วภายหลัง ไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ ในกรณีเดียวกัน

ข้อ 14 ได้รับทนายความแล้ว ภายหลังใช้อุบายด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้

ข้อ 15 กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระยัดสินลูกความหรือครอบครองหรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือ ทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความที่ตนได้รับโดยหน้าที่ อันเกี่ยวข้องไว้นอนเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความเว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร

ข้อ 16 แย่งหรือทำการใดในลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่า
หรือรับหรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นว่าอยู่แล้วเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้น แล้วมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว

ข้อ 17 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใด ๆ ดังต่อไปนี้
- อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเองหรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง หรือ ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานอันเป็นไปในทางโอ้อวด เป็นเชิงชักชวน ให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ หรืออื่น ๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ

ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการ เสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรี และเกียรติคุณของทนายความ

ข้อที่ 19 ยินยอมตกลง หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าหรือบำเหน็จรางวัลใด ๆ ด้วยทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือมีคนประจำสำนักงานดำเนินการจัดหาคดีความมาให้ว่า โดยทนายความผู้นั้นคิดค่าส่วนลดของค่าจ้างให้ หรือให้เงินเดือน หรือเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความมาให้นั้น แม้บุคคลผู้หาคดีความมาให้โดยลักษณะดังกล่าวจะเป็นเสมียนหรือลูกจ้างประจำสำนักงานของทนายความผู้นั้นก็ตาม

ข้อ 20 ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- ทนายความชาย แต่งตามแบบสากลนิยมเป็นชุดสีขาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ๊ตขาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว สีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล หรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า
- ทนายความหญิงแต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพ ไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น
- ทนายความที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบราชการ จะแต่งเครื่องแบบราชการก็ได้
- ในขณะว่าความ ทนายความที่มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย

ข้อ 21 ทนายความจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความและคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตลอดจนบรรดาข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้สั่งหรือมีไว้แล้วแต่กรณีตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบัญญัติแห่งกฎหมาย ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ
ดังกล่าวมีโทษ 3 สถานคือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ (มาตรา 51 , 52) ทั้งนี้แล้วแต่ความร้ายแรงแห่งการกระทำ
ที่มา : http://www.jobsiam.com

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

อนุญาโตตุลาการ คืออะไร ?


อนุญาโตตุลาการ คือ บุคคลคนเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ชี้ขาด
การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเริ่มมีขึ้นมายาวนานตามวิวัฒนาการของกฎหมาย ดังหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน โดยในกฎหมายสิบสองโต๊ะได้บัญญัติให้มีคนกลางเป็นอนุญาโตตุลาการ ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในกฎหมายอังกฤษ
ประวัติ
ความจำเป็นในการที่ต้องมีการควบคุมการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้เริ่มขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 โดยในประเทศอังกฤษได้มีการกำหนดวิธีดำเนินงานของอนุญาโตตุลาการไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2240 ต่อมาใน พ.ศ. 2397 ได้มีการรวบรวมหลักกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการที่กระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ มาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ และเมื่อจำนวนข้อพิพาททางแพ่งมากขึ้นตามพัฒนาการของกิจการพาณิชย์ต่าง ๆ รัฐสภาอังกฤษจึงตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2432 มีเนื้อหาเป็นการประมวลหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา

ส่วนในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่า ในกฎหมายตราสามดวงมีการบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตระลาการโดยคู่ความ ซึ่งแตกต่างจากตระลาการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และต่อมาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2477 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องอนุญาโตตุลาการในศาลและนอกศาลไว้ กับทั้งได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล
ความหมาย
อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางแพ่งประเภทหนึ่งซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะของกระบวนการระงับข้อพิพาทได้ดังต่อไปนี้

1. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (อังกฤษ: conciliator) คือ บุคคลที่สามซึ่งคู่กรณีพิพาทตกตลงกันให้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดการประนีประนอมยอมความกัน โดยคู่กรณีพิพาทแต่ละฝ่ายต่างยินยอมผ่อนผันข้อเรียกร้องของตน และแต่ละฝ่ายจะได้รับสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแทน ในกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีหน้าที่เพียงไกล่เกลี่ยให้มีการประนีประนอมยอมความกัน ไม่มีอำนาจบังคับหรือตัดสินการใด ๆ ในการเจรจานั้น แต่อาจเสนอแนวทางในการตกลงกันของคู่กรณีพิพาทได้

2. อนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitrator) คือ บุคคลที่สามซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันให้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" ในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีพิพาทแสดงข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้พร้อมทั้งนำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาสืบเพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ตลอดจนสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันได้ รวมทั้งคู่กรณีพิพาทสามารถตกลงกันกำหนดวิธีพิจารณาโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแก่ข้อพิพาทได้ และเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว อนุญาโตตุลาการจึงมีคำวินิจฉัยข้อพิพาทได้

3. ตุลาการ (อังกฤษ: justice) หรือผู้พิพากษา (อังกฤษ: judge) คือ ผู้มีหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติให้ชี้ขาดข้อพิพาทใด ๆ ด้วยการมีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีที่มาสู่ศาลในกรณีที่คู่ความไม่อาจตกลงไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทกันได้ นอกจากนี้ ในกรณีพิพาทซึ่งไม่เป็นกรณีอันต้องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการตามที่กฎหมายกำหนด และคู่ความได้ยื่นฟ้องศาลแล้ว ตุลาการหรือผู้พิพากษาอาจไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันในศาลหรืออาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการในศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาใช้บังคับก็ได้ ตามแต่เห็นสมควร

การอนุญาโตตุลาการ
การอนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitration) เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" (อังกฤษ: arbitration agreement) มีใจความเป็นการเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชึ้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการไว้ในคราวนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยการมอบอำนาจให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนการมอบอำนาจเช่นว่าอาจกระทำกันโดยตกลงกันในสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเลยหรือในสัญญาอื่น ๆ ต่างหาก เช่น สัญญาที่คู่สัญญานั้นตกลงทำขึ้นเพื่อกิจการระหว่างกันและจะถือว่าข้อสัญญาต่างหากนี้นับเข้าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการเช่นกัน
ที่มา : th.wikipedia.org/

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เตรียมแก้กฎหมาย ชายทำท้องแล้วทิ้ง ติดคุกด้วย..!




"อิสสระ" ชี้ชายต้นเหตุทำท้องแล้วทิ้ง ปล่อยหญิงไปทำแท้ง จะเสนอแก้กฎหมายเอาผิดให้ติดคุกด้วย แนะ 10 ข้อเลิกค่านิยมผิด ๆ เพื่อสิทธิอันเท่าเทียม ด้านคดี 2 พันศพ ตำรวจเตรียมสเกตช์ภาพตามจับชายอีกคนที่ว่าจ่างสัปเหร่อทำลายศพ

นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ว่า การทำแท้งเป็นเรื่องกระทบศีลธรรมที่ไม่ควรทำ เพราะไม่เกิดผลดีต่อผู้กระทำ แต่กฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ก็เปิดช่องให้ผู้หญิงทำแท้งได้หลายทาง ไม่ว่าจะตั้งท้องไม่พร้อมจากการถูกข่มขืน การตั้งท้องที่กระทบสุขภาพมารดาหรือเด็กในท้อง แต่ปัญหาคือการทำแท้งเถื่อนที่ผิดกฎหมายมีมากมาย ตัวเลขที่ได้รับแจ้งจากแพทย์แต่ละปีมีการแอบทำแท้งกว่า 2 แสนราย เพราะผู้หญิงที่จำยอมต้องทำแท้งเนื่องจากครอบครัวไม่ยอมรับ ผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงท้องไม่รับผิดชอบ ตีจากเมื่อรู้ว่าผู้หญิงตั้งท้อง ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ควรลงโทษผู้หญิง แต่ต้องลงโทษผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงท้องด้วย ซึ่งสาเหตุการตั้งท้องไม่พร้อมมีหลายปัจจัย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็ทำให้เด็กในบ้านแอบไปหาเพื่อน และมีเพศสัมพันธ์จนตั้งท้องไม่พร้อมเช่นกัน

"ผมอยากเสนอให้มีการแก้กฎหมาย เอาโทษผู้ชายที่มีส่วนทำให้ผู้หญิงท้องจนต้องไปทำแท้ง ให้ผู้ชายได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองกระทำด้วย ปัญหาที่วัดไผ่เงินเป็นอุทาหรณ์ใหญ่ของสังคม ส่วนที่คนมีเงินไปทำแท้งที่เขมรหรือต่างประเทศก็เป็นปัญหาปลายเหตุ ผมไม่ห่วงคนมีเงินที่ไปทำแท้งแบบนั้น แต่ห่วงว่าจะกลายเป็นค่านิยมแบบอย่างสังคมไปยอมรับ การกระทำแบบนี้ซึ่งไม่ถูกต้อง ดังนั้นทุกหน่วยงานจากนี้ต้องบูรณาการร่วมมือกันแก้ปัญหาโดยเร็ว" นายอิสสระกล่าว

นายอิสสระ กล่าวว่า วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น "วันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล" ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิผลในการลดความรุนแรง จุดเริ่มต้นสำคัญต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้ชาย ให้มองว่าหญิงชายต้องเท่าเทียมกัน สำหรับวิธีคิดง่าย ๆ ที่ผู้ชายควรนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันมี 10 ข้อ คือ

1. เปลี่ยนความคิดที่ว่าการดื่มเหล้าเป็นวิถีของลูกผู้ชาย

2. เปลี่ยนความคิดที่ว่าผู้ชายเท่านั้นที่เป็นใหญ่ในบ้าน ควรหันมารับฟังความคิดเห็นผู้อื่น เพราะผู้ชายเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตาม

3. เปลี่ยนความคิดที่ว่างานบ้านเป็นงานของผู้หญิง

4. เปลี่ยนความคิดที่ว่าผู้ชายมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องน่ายกย่อง แต่ควรหันมาซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว

5. เปลี่ยนความคิดที่ว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามี ควรหันมาให้เกียรติ ไม่ดุด่า ทำร้ายทุบตี บังคับหลับนอน

6. เปลี่ยนความคิดที่ว่าการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ควรหันมามีส่วนในการเลี้ยงลูก

7. เปลี่ยนความคิดที่ว่าผู้ชายมีความสามารถมากกว่าผู้หญิง ควรหันมายอมรับว่าผู้หญิงก็มีความสามารถไม่น้อยกว่าผู้ชาย

8. เปลี่ยนความคิดที่ว่าผู้ชายที่มีโอกาสล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงแล้วไม่ทำเป็นผู้ชายโง่ แต่ควรหันมาเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น มีเพศสัมพันธ์จากความยินยอมพร้อมใจและรับผิดชอบ

9. เปลี่ยนจากความคิดที่ว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ควรหันมาทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีแจ้งเหตุ 1300 ศูนย์ประชาบดี หรือช่วยเหลือเมื่อพบเห็นเหตุความรุนแรงในครอบครัว

10. เปลี่ยนจากความคิดที่ว่าการคุมกำเนิดเป็นหน้าที่ของผู้หญิง แต่ต้องคิดว่าการคุมกำเนิดถือเป็นหน้าที่ทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เห็นด้วยว่าควรปฏิรูปกฎหมายให้ผู้ที่กระทำกับผู้หญิงจนตั้งท้องแล้วไปทำแท้งต้องมีความผิดได้รับโทษด้วย เพื่อให้ผู้ชายมีส่วนร่วมผิดชอบกับการกระทำ เพราะปัญหาขณะนี้สังคมไม่พูดถึงผู้ชายเลย ไม่สนใจว่าผู้หญิงท้องทำไมต้องไปทำแท้งจำนวนมากขนาดนี้ ดังนั้นต้องปรับทัศนคติผู้ชายโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาช่วย

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม

1.ข้อความทั่วไป

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ วรรคสองว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการบัญญัติคำว่า “หลักนิติธรรม” ไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามหากไปตรวจดูประวัติการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพบว่าแต่เดิมในชั้นยกร่างนั้น ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกได้ใช้คำว่า “หลักนิติรัฐ” ไม่ใช่ “หลักนิติธรรม”ไม่ปรากฏเหตุผลในการจัดทำรัฐธรรมนูญว่า เหตุใดในเวลาต่อมา ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญจึงได้เปลี่ยนแปลงคำว่า “หลักนิติรัฐ” เป็นคำว่า “หลักนิติธรรม” ไม่ปรากฏการอภิปรายว่าผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจหลักการทั้งสองว่าอย่างไร และโดยสรุปแล้วหลักการทั้งสองเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร1 ยิ่งไปกว่านั้น หากไปสำรวจตรวจสอบบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน โดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมที่ยอมรับนับถือกันเป็นสากลแล้ว จะพบว่าบทบัญญัติหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวเลย บทความนี้จะสำรวจตรวจสอบความหมาย ความเป็นมา ตลอดจนเนื้อหาของหลักการทั้งสองดังกล่าว พร้อมทั้งจะได้ชี้ให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างของหลักการทั้งสองโดยสังเขป

โดยทั่วไปเราใช้คำว่าหลักนิติรัฐกับหลักนิติธรรมคู่กันไป โดยที่ไม่ได้แยกแยะความแตกต่างในรายละเอียด อันที่จริงจะว่าการใช้ถ้อยคำทั้งสองคำในความหมายอย่างเดียวกันเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงของผู้ใช้ถ้อยคำนี้คงจะไม่ได้ เพราะทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต่างก็ได้รับการพัฒนาขึ้นโลกตะวันตกโดยมีเป้าหมายที่จะจำกัดอำนาจของผู้ปกครองให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต่างก็ไม่ต้องการให้มนุษย์ปกครองมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ต้องการให้กฎหมายเป็นผู้ปกครองมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ทรงอำนาจบริหารปกครองบ้านเมืองจะกระทำการใดๆก็ตาม การกระทำนั้นจะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย จะกระทำการให้ขัดต่อกฎหมายไม่ได้

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าหลักการทั้งสองมีความแตกต่างกันอยู่ สาเหตุแห่งความแตกต่างนั้นอยู่ที่พัฒนาการในทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนีซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความคิดว่าด้วยหลักนิติรัฐและในอังกฤษซึ่งพัฒนาความคิดว่าด้วยหลักนิติธรรมขึ้น ความแตกต่างของหลักการทั้งสองในรายละเอียดนั้นไม่เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะหลักการทั้งสองเกี่ยวพันกับ “กฎหมาย” แต่ “กฎหมาย” นั้น กฎหมายเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับประวัติความเป็นมาของชนแต่ละชาติ ความเข้าใจบางประการที่แตกต่างกันที่ชนชาติเยอรมันและอังกฤษมีต่อมโนทัศน์ว่าด้วย “กฎหมาย” ตลอดจนประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่แตกต่างกันของชนชาติทั้งสองย่อมส่งผลต่อเนื้อหาของหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม และต่อการจัดโครงสร้าง บทบาท และความสัมพันธ์ขององค์กรของรัฐด้วย หลักนิติรัฐซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในเยอรมนีในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้านั้นได้แผ่ขยายอิทธิพลออกไปทั่วภาคพื้นทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกฎหมายมหาชนในอิตาลีที่ได้รวมชาติขึ้นสำเร็จในช่วงเวลานั้นและต่อฝรั่งเศสในช่วงสาธารณรัฐที่สาม ส่วนหลักนิติธรรมซึ่งมีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและรัฐธรรมนูญของอังกฤษตั้งแต่สมัยที่ชาวนอร์แมนเข้ายึดครองเกาะอังกฤษนั้น ก็มีอิทธิพลไม่น้อยต่อโครงสร้างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและต่อหลายประเทศที่ได้รับแนวความคิดจากสถาบันการเมืองการปกครองของอังกฤษ2

2.หลักนิติรัฐ (Rechtsstaatsprinzip)

2.1 พัฒนาการของหลักนิติรัฐ

คำว่า “นิติรัฐ” เป็นคำที่แปลมาจากภาษาเยอรมันว่า “Rechtsstaat” คำว่า “Rechtsstaat” ประกอบขึ้นจากคำสองคำ คือ คำว่า Recht ที่แปลว่า กฎหมาย (ในภาษาเยอรมันคำๆนี้สามารถแปลว่า “สิทธิ” ได้ด้วย) และคำว่า Staat ที่แปลว่า รัฐ แต่คำสองคำนี้เมื่อมารวมกันแล้วได้กลายเป็นคำศัพท์ทางนิติศาสตร์ในระบบกฎหมายเยอรมันซึ่งยากจะหาคำในภาษาต่างประเทศที่แปลแล้วให้ความหมายได้ตรงกับคำในภาษาเดิม ตำราที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษจำนวนหนึ่งได้ใช้คำๆนี้ทับศัพท์ภาษาเยอรมันโดยไม่แปล3 อย่างไรก็ตามมีความพยายามในการแปลคำว่า Rechtsstaat อยู่เช่นกัน ถึงแม้ว่าคำแปลที่พยายามคิดกันขึ้นนั้นไม่สามารถสื่อความหมายของคำว่า Rechtsstaat ได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม เช่น ในระบบกฎหมายอังกฤษ แปลคำว่า Rechtsstaat ว่า rule of law หรือ state-under-law4 ระบบกฎหมายฝรั่งเศสแปลว่า état constitutionnel แต่ตำรากฎหมายฝรั่งเศสยุคหลังๆมักแปลว่า état de droit ซึ่งเป็นแนวโน้มการแปลในภาษาอื่นๆด้วย คือแปลตรงตัว เช่น ระบบกฎหมายอิตาลี แปลว่า Stato di diritto หรือระบบกฎหมายสเปนแปลว่า Estato de derecho เป็นต้น สำหรับในสหรัฐอเมริกาหากไม่แปลคำว่า Rechtsstaat ว่า rule of law ก็มักจะยกเอาหลักการในทางกฎหมายที่มีเนื้อหาบางส่วนที่คล้ายคลึงกับ Rechtsstaat มาเทียบเคียง เช่น due-process-clause หรือการกล่าวถึง limited government ในฐานะมโนทัศน์ทางกฎหมายที่ใกล้เคียงกับ Rechtsstaat เป็นต้น

ในทางวิชาการ ไม่ว่าจะแปลคำว่า Rechtsstaat ว่าอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญย่อมอยู่ที่ความหมายอันเป็นแก่นแท้ของหลักการนี้ กล่าวคือ การปกครองใน Rechtsstaat หรือนิติรัฐนั้น กฎหมายจะต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจ ภายใต้กฎหมายบุคคลทุกคนต้องเสมอภาคกัน และบุคคลจะต้องสามารถทราบก่อนล่วงหน้าว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะบังคับให้ตนทำอะไรหรือไม่ให้ตนทำอะไร ผลร้ายอันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายคืออะไร ทั้งนี้เพื่อที่จะบุคคลได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมาย แนวความคิดพื้นฐานดังกล่าวนี้ย่อมจะก่อให้เกิดหลักต่างๆตามมาในทางกฎหมายมากมาย เช่น หลักไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยปราศจากกฎหมาย (nulla poena sine lege) หลักการห้ามลงโทษซ้ำซ้อน หลักการห้ามตรากฎหมายย้อนหลังกำหนดโทษแก่บุคคล เป็นต้น5

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการของนิติรัฐแล้ว จะพบว่าแนวความคิดว่าด้วยนิติรัฐมีขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจของรัฐหรือผู้ปกครองให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย คำกล่าวที่ว่านิติรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่โดยมนุษย์ (government of law and not of men) ดูจะเป็นการให้ความหมายของนิติรัฐในเบื้องต้นที่ตรงที่สุด ในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองแนวความคิดว่าด้วยนิติรัฐเริ่มต้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ ๑๗ ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจกล่าวได้ว่าเสาหลักที่ค้ำจุนนิติรัฐไว้ก็คือการปกป้องบุคคลจากการกระทำตามอำเภอใจของรัฐหรือผู้ปกครอง แนวความคิดนี้สอดคล้องต้องกันกับพัฒนาการและความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ยุคกลางว่าสันติสุขและความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ย่อมต้องอาศัยกฎหมาย อย่างไรก็ตามในวงวิชาการเยอรมัน ซึ่งเป็นแหล่งที่พัฒนาแนวคิดเรื่องนิติรัฐขึ้น จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่าใครเป็นผู้ที่ให้ความหมายของคำว่า Rechtsstaat อย่างชัดเจนเป็นคนแรก แต่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า Robert von Mohl ซึ่งได้ศึกษารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นเป็นอย่างดี เป็นคนแรกที่นำเอาความคิดที่ว่าการดำรงอยู่ของรัฐไม่ควรจะขึ้นอยู่กับกำลังอำนาจ แต่ควรขึ้นอยู่กับเหตุผล มาอธิบายอย่างเป็นระบบในตำรากฎหมายว่าด้วยรัฐแห่งราชอาณาจักรวัวร์ดเท็มแบร์ก (Staatsrecht des Koenigreichs Wuerttemberg) อนึ่ง สำหรับ Mohl แล้วเสรีภาพของปัจเจกบุคคลย่อมถือเป็นหัวใจของมโนทัศน์ว่าด้วยนิติรัฐ

อันที่จริงแล้ว ก่อนที่จะเริ่มมีคำอธิบายเกี่ยวกับนิติรัฐในทางตำรา เมื่อครั้งที่ยุโรปยังปกครองกันในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ ก็เริ่มปรากฏหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายที่จำกัดอำนาจอำเภอใจของกษัตริย์บ้างแล้ว6 พัฒนาการของความคิดเรื่องนิติรัฐเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อรัฐสมัยใหม่ในยุโรปพัฒนาจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ความเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกเรียกร้องมากขึ้นในแง่ของเหตุผล กล่าวคือ ถึงแม้ว่ากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ปกครองจะยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่ในการใช้อำนาจนั้นมีการเรียกร้องให้กษัตริย์ต้องคำนึงถึงเหตุผลด้วย ปรัชญาว่าด้วยรัฐในยุคสมัยแห่งพุทธิปัญญานี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักคิดอย่าง Immanuel Kant ซึ่งนำเอาความคิดว่าด้วยเสรีภาพและเหตุผลมาเป็นศูนย์กลางของปรัชญาของตน อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า Kant ไม่ได้เน้นเสรีภาพของบุคคลไปที่เสรีภาพทางการเมืองเหมือนกับที่ปรากฏในหลายๆประเทศ แต่เน้นไปที่เสรีภาพในทางความคิด การมุ่งเน้นในประเด็นดังกล่าวของ Kant นี่เอง ที่ทำให้มโนทัศน์ว่าด้วยนิติรัฐ แม้จะเป็นมโนทัศน์ที่สนับสนุนเสรีภาพ แต่ก็ขาดลักษณะประชาธิปไตย7 เราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ของชาติเยอรมันว่าในห้วงเวลานั้นไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทางอำนาจระหว่างรัฐกับราษฎรดังเช่นที่ปรากฏในฝรั่งเศสเลย ในขณะที่นักคิดในเยอรมันคงมุ่งเน้นเรื่องเสรีภาพในทางความคิดนั้น ชาวฝรั่งเศสกลับมุ่งความสนใจไปที่เสรีภาพในทางการเมือง และในที่สุดชนชาติฝรั่งเศสก็สามารถปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เมื่อมีการปฏิวัติใหญ่ใน ค.ศ. ๑๗๘๙

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของนิติรัฐในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ นี้อยู่ที่การฟื้นตัวของความคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ แนวความคิดที่ว่าจักรวาลดำรงอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบเพราะถูกกำกับควบคุมโดยสิ่งที่มีคุณภาพในทางสติปัญญาที่เรียกว่า logos (เหตุผลสากล) นั้น ปรากฏขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรีกโบราณ โดยเฉพาะในปรัชญาของสำนักสโตอิคส์ (Stoicim) นักคิดสำนักนี้เชื่อว่ามนุษย์ได้รับประกายแห่งเหตุผลจากเหตุผลสากล มนุษย์ทุกคนจึงเกิดมามีศักดิ์ศรีเหมือนกัน ไม่มีใครเกิดมาในฐานะที่เป็นทาส มนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีความสามารถที่จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดได้ด้วยตนเอง กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติหรือกฎหมายแห่งเหตุผลได้โดยที่ไม่ต้องมีใครช่วยตีความให้ ความคิดที่นิยมยกย่องเหตุผลดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างยิ่งในอาณาจักรโรมัน (ผ่านความคิดของนักคิดสำนักสโตอิคส์ที่เป็นชาวโรมันอย่างเช่นซิเซโร) ทำให้ชาวโรมันสามารถพัฒนาวิชานิติศาสตร์ที่ตั้งอยู่รากฐานของเหตุผลอย่างเป็นระบบขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตามแนวความคิดที่นิยมยกย่องเหตุผลของมนุษย์อ่อนแรงลงในสมัยกลาง ซึ่งเป็นสมัยที่นิติปรัชญาแนวคริสต์ครอบงำยุโรป จวบจนกระทั่งนักคิดอย่าง Samuel Pufendorf (ค.ศ.๑๖๓๒ ถึง ๑๖๙๔) และ Christian Wolff (๑๖๗๙-๑๗๕๔) ได้รื้อฟื้นแนวความดังกล่าวขึ้นมาพัฒนาต่อ ความคิดว่าด้วยกฎหมายธรรมชาติจึงกลับฟื้นตัวขึ้น โดยนักคิดในยุคสมัยนั้นได้เชื่อมโยงความคิดว่าด้วยกฎหมายธรรมชาติกับสิทธิตามธรรมชาติเข้าด้วยกัน ตามคำสอนของนักคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นตัวนี้ สิทธิตามธรรมชาติ คือสิทธิที่มนุษย์แต่ละคนมีติดตัวมาตามธรรมชาติ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในร่างกาย สิทธิดังกล่าวนี้มนุษย์แต่ละคนมีอยู่โดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐและไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายบ้านเมือง กล่าวคือ เป็นสิทธิที่มีอยู่ก่อนมีรัฐ สิทธิตามธรรมชาติที่กล่าวถึงนี้เองที่ต่อมาจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในทางเนื้อหาของหลักนิติรัฐ

การเริ่มตระหนักรู้ถึงสิทธิที่กล่าวมานี้ ทำให้ในราวปลายศตวรรษที่ ๑๘ ต่อเนื่องมาจนต้นศตวรรษที่ ๑๙ ราษฎรได้เรียกร้องให้รัฐปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินตลอดจนเสรีภาพของตนมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการทางการเมือง การเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะในช่วงเวลานั้นราษฎรที่เป็นสามัญชนเริ่มมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น เมื่อราษฎรต่างเริ่มมีทรัพย์สินมากขึ้น ก็ย่อมต้องการความมั่นคงปลอดภัยในทรัพย์สินที่ตนหามาได้เป็นธรรมดา ราษฎรเหล่านี้ต่างเห็นว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะปรากฏเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้อำนาจของรัฐต้องผูกพันอยู่กับกฎหมาย กฎหมายย่อมจะต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขอบเขตภารกิจของรัฐ กฎหมายจะต้องสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ และกฎหมายจะต้องประกันสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

ในราวปลายศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งยังเป็นช่วงที่เยอรมนีอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิ์ พัฒนาการเกี่ยวกับความคิดว่าด้วยนิติรัฐเกิดการหักเหขึ้น ที่ว่าเกิดการหักเหก็เนื่องจากในช่วงเวลานี้มโนทัศน์ว่าด้วยนิติรัฐถูกจำกัดลงเหลือแต่เพียงองค์ประกอบในทางรูปแบบเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากในเวลานั้นคำสอนในทางปรัชญากฎหมายของสำนักกฎหมายบ้านเมืองหรือสำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Legal Positivism) เจริญงอกงามเฟื่องฟูขึ้น แนวคิดหลักของสำนักคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ต้องการสร้างความชัดเจน ความมั่นคง และความแน่นอนให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย สำนักคิดนี้ปฏิเสธคำสอนว่าด้วยกฎหมายธรรมชาติ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ ทำให้กฎหมายไม่มีความแน่นอน สำหรับสำนักกฎหมายบ้านเมืองหรือสำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายแล้ว กฎหมายที่ได้รับการตราขึ้นโดยผู้ที่ทรงอำนาจตรากฎหมายต้องถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความถูกต้องเป็นธรรม ดังนั้นหลักใหญ่ใจความของนิติรัฐจึงอยู่ที่ความผูกพันของฝ่ายปกครองต่อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในบ้านเมือง และการปกป้องคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชน (ที่เกิดจากกฎหมายที่ตราขึ้น) จากการล่วงละเมิดของฝ่ายปกครองโดยองค์กรตุลาการเท่านั้น แม้ว่ารัฐชนิดนี้จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง แต่โดยที่ไม่มีการพูดถึงองค์ประกอบในทางเนื้อหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งความยุติธรรม ตำรากฎหมายจำนวนหนึ่งจึงเรียกรัฐชนิดนี้ว่า Gesetzesstaat8 ( คำว่า Gesetz ในภาษาเยอรมันแปลว่า กฎหมาย เหมือนกับคำว่า Recht แต่ Gesetz มุ่งหมายถึงกฎหมายที่ได้รับการบัญญัติขึ้นเป็นสำคัญ) รัฐที่สนใจแต่เพียงกฎหมายในทางรูปแบบเช่นนี้เองที่ทำให้ในที่สุดเกิดรัฐตำรวจ (Polizeistaat) ขึ้น ในรัฐชนิดนี้ฝ่ายปกครองก็ผูกพันตนต่อกฎหมาย แต่ไม่ต้องสนใจว่ากฎหมายนั้นถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ โดยปรากฏการณ์เช่นนี้ คำว่า “รัฐตำรวจ” จึงได้กลายเป็นคำตรงกันข้ามกับคำว่า “นิติรัฐ” ผลพวงจากการเกิดขึ้นของรัฐตำรวจ ทำให้ในเวลาต่อมาเกิดแรงต้านจากฝ่ายเสรีนิยม จนในที่สุดมโนทัศน์ว่าด้วยนิติรัฐก็ได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมองค์ประกอบในทางเนื้อหาด้วย คือเป็นนิติรัฐที่เป็นเสรีนิยม คำนึงถึงความยุติธรรม และทำให้ในปัจจุบันนี้เมื่อกล่าวถึงนิติรัฐจะต้องพูดถึงองค์ประกอบทั้งสองด้าน คือ ทั้งในทางรูปแบบ และในทางเนื้อหา การกล่าวว่านิติรัฐเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่วงการกฎหมายไทยตลอดจนองค์กรตุลาการยอมรับบรรดาคำสั่งของคณะรัฐประหารทั้งปวงว่าเป็นกฎหมาย โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามในทางเนื้อหาเลยว่าสิ่งที่เกิดจากการประกาศของคณะรัฐประหารนั้นมีเนื้อหาที่สอดรับกับความถูกต้องเป็นธรรมและสมควรจะได้ชื่อว่าเป็น “กฎหมาย” ที่ผูกพันองค์กรของรัฐให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่

ในประเทศเยอรมนี ภายหลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีการพูดถึงนิติรัฐในทางเนื้อหามากขึ้น แต่การขึ้นครองอำนาจของ Adolf Hitler ก็ทำให้พัฒนาการในเรื่องนี้สะดุดลง จนกระทั่งประเทศเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง แนวความคิดดังกล่าวจึงพัฒนาต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ได้กล่าวมาแล้วว่าแนวความคิดพื้นฐานของนิติรัฐก็คือ การจำกัดอำนาจของรัฐโดยกฎหมาย การทำให้รัฐต้องผูกพันอยู่กับหลักการพื้นฐานและคุณค่าทางกฎหมายโดยไม่อาจบิดพริ้วได้ ด้วยเหตุนี้หลักนิติรัฐจึงไม่มีความหมายแค่เพียงการบังคับให้รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้รัฐต้องดำเนินการในด้านต่างๆเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมด้วย วัตถุประสงค์ดังกล่าวจะบรรลุได้ก็แต่โดยการสร้างระบบการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่มีประสิทธิภาพและการยอมรับให้มีองค์กรตุลาการขึ้นมาโดยเฉพาะ (ศาลรัฐธรรมนูญ) ให้องค์กรดังกล่าวพิทักษ์ปกป้องคุณค่าในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญของเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เรียกว่า “กฎหมายพื้นฐาน” (Grundgesetz) ได้เดินตามแนวทางนี้และได้บัญญัติให้หลักนิติรัฐเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

2.2 องค์ประกอบของหลักนิติรัฐ

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในระบบกฎหมายเยอรมันว่า หลักนิติรัฐมีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน คือ องค์ประกอบในทางรูปแบบ และองค์ประกอบในทางเนื้อหา ความเป็นนิติรัฐในทางรูปแบบ คือ การที่รัฐผูกพันตนเองไว้กับกฎหมายที่องค์กรของรัฐตราขึ้นตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นหรือที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้ ทั้งนี้เพื่อจำกัดอำนาจของรัฐลง เมื่อพิจารณาในทางรูปแบบแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าหลักนิติรัฐมุ่งประกันความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล ส่วนความเป็นนิติรัฐในทางเนื้อหานั้น ก็คือ การที่รัฐประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของราษฎร โดยกำหนดให้บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพมีค่าบังคับในระดับรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้รัฐต้องกระทำการโดยยุติธรรมและถูกต้อง พิจารณาในทางเนื้อหา นิติรัฐ ย่อมต้องเป็นยุติธรรมรัฐ (Gerechtigkeitsstaat)

ในทางปฏิบัติเป็นไปได้เสมอที่หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะกับหลักความยุติธรรมอาจจะขัดแย้งกัน เป็นหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติที่จะพยายามประสานสองหลักการนี้เข้าด้วยกัน และในบางกรณีจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้หลักการใดเป็นหลักการนำ บ่อยครั้งที่องค์กรนิติบัญญัติตัดสินใจเลือกหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะเพื่อประกันความมั่นคงในระบบกฎหมาย เช่น การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้ในระบบกฎหมายเป็นต้น

2.2.1 องค์ประกอบในทางรูปแบบของหลักนิติรัฐ

พิจารณาในทางรูปแบบ หลักนิติรัฐประกอบไปด้วยหลักการย่อยๆ หลายประการ ที่สำคัญได้แก่ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำขององค์กรของรัฐ หลักการประกันสิทธิในกระบวนการพิจารณาคดี ตลอดจนหลักการประกันสิทธิของปัจเจกบุคคลในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

หลักการแบ่งแยกอำนาจเรียกร้องมิให้อำนาจของรัฐรวมศูนย์อยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ให้มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจหรือกระจายการใช้อำนาจของรัฐให้องค์กรต่างองค์กรกันเป็นผู้ใช้ เพื่อให้เกิดการดุลและคานอำนาจกัน โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญของนิติรัฐจะแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐออกเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ องค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร และองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ
หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำขององค์กรของรัฐ เรียกร้องให้การกระทำขององค์กรนิติบัญญัติต้องผูกพันอยู่กับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับในรัฐนั้น องค์กรนิติบัญญัติจะตรากฎหมายล่วงกรอบที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไม่ได้ หลักการดังกล่าวนี้ยังเรียกร้ององค์กรบริหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรฝ่ายปกครอง) และองค์กรตุลาการให้ต้องผูกพันต่อกฎหมาย ซึ่งหมายถึงต้องผูกพันต่อรัฐธรรมนูญและบรรดากฎหมายต่างๆที่ใช้บังคับอยู่จริงในบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่องค์กรนิติบัญญัติได้ตราขึ้น กล่าวเฉพาะฝ่ายปกครองหลักการดังกล่าวนี้เรียกร้องให้ฝ่ายปกครองต้องกระทำการโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และในกรณีที่การกระทำทางปกครองมีผลก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของราษฎร ย่อมจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำการเช่นนั้นได้ หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจแล้ว การกระทำทางปกครองนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หลักการประกันสิทธิในกระบวนการพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และศาลเรียกร้องให้รัฐต้องเปิดโอกาสให้ราษฎรได้ต่อสู้ป้องกันสิทธิของตนในกระบวนการพิจารณาต่างๆของรัฐได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ระบบกฎหมายของรัฐจึงกำหนดให้องค์กรของรัฐต้องรับฟังบุคคล เปิดโอกาสให้บุคคลนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างข้อกล่าวหาต่างๆก่อนที่จะตัดสินใจกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่เป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น ทั้งนี้กระบวนการพิจารณาที่ได้รับการออกแบบขึ้นจะต้องเป็นกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรม (fair) ด้วย อนึ่งในกรณีที่ราษฎรได้ความเสียหายจากการใช้อำนาจมหาชนขององค์กรของรัฐ รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถฟ้ององค์กรของรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนต่อศาลได้

สำหรับหลักการประกันสิทธิของปัจเจกบุคคลในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นเรียกร้องให้รัฐกำหนดกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ เอกชนที่พิพาทกันเองต้องมีหนทางในการนำข้อพิพาทนั้นไปสู่ศาล และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีในชั้นศาลจะต้องได้รับการออกแบบให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรอบด้านตลอดจนกำหนดผลผูกพันเด็ดขาดของคำพิพากษาไว้เพื่อให้เกิดความมั่นคงแน่นอนในระบบกฎหมาย

2.2.2 องค์ประกอบในทางเนื้อหาของนิติรัฐ

ลำพังแต่การเรียกร้องให้องค์กรของรัฐต้องผูกพันต่อกฎหมายในการกระทำการต่างๆนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ หากกฎหมายที่ได้รับการตราขึ้นนั้นไม่สอดคล้องกับความถูกต้องเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้หลักนิติรัฐจึงเรียกร้องต่อไปอีกว่าในการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับกับราษฎรนั้น กฎหมายที่ได้รับการตราขึ้นจะต้องมีความชัดเจนและแน่นอนเพียงพอที่ราษฎรจะเข้าใจได้ ยิ่งไปกว่านั้นระบบกฎหมายจะต้องคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจที่บุคคลมีต่อกฎหมาย การตรากฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคล ทั้งๆที่จะต้องคุ้มครองความไว้เนื้อเชื่อใจที่บุคคลมีต่อกฎหมาย โดยหลักแล้วไม่อาจกระทำได้ หลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักการที่บังคับใช้โดยไม่มีข้อยกเว้นในกรณีของกฎหมายอาญาสารบัญญัติ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าหากผลร้ายที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลไม่ใช้โทษทางอาญาแล้ว รัฐสามารถตรากฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคลได้ทุกกรณีดังที่เข้าใจผิดพลาดกันอยู่ในวงการกฎหมายไทยแต่อย่างใดไม่ การวินิจฉัยว่าการตรากฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคลจะกระทำได้หรือไม่จะต้องพิจารณาองค์ประกอบในแง่ความไว้เนื้อเชื่อใจที่บุคคลมีต่อระบบกฎหมาย ตลอดจนการคาดหมายความคุ้มครองจากระบบกฎหมายของบุคคลประกอบกัน โดยหลักทั่วไปแล้ว ในกรณีที่บุคคลได้กระทำการจบสิ้นไปแล้วในอดีต ไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำของตนได้แล้ว การตรากฎหมายไปกำหนดองค์ประกอบความผิดขึ้นใหม่ กำหนดโทษขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงโทษที่มีอยู่ในกฎหมายในขณะที่ได้กระทำการ แม้โทษนั้นจะไม่ใช่โทษอาญาก็กระทำไม่ได้

นอกจากหลักนิติรัฐในทางเนื้อหาจะเรียกร้องการคุ้มครองความไว้เนื้อเชื่อใจที่บุคคลมีต่อระบบกฎหมายแล้ว หลักการดังกล่าวยังกำหนดให้สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลมีค่าบังคับทางกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญและถือว่าบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นกฎหมายโดยตรงอีกด้วย บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามหลักนิติรัฐที่ปรากฏในเยอรมนีจึงมีสองมิติ คือ มิติแรก สิทธิขั้นพื้นฐานมีลักษณะเป็นสิทธิหรืออำนาจที่ปัจเจกบุคคลสามารถยกขึ้นใช้ยันรัฐได้ โดยทั่วไปสิทธิขั้นพื้นฐานมีลักษณะเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะป้องกันตนจากการล่วงละเมิดโดยรัฐ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน แต่ในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่เป็นสังคมรัฐหรือรัฐสวัสดิการ (Sozialstaat) สิทธิขั้นพื้นฐานยังมีลักษณะเป็นสิทธิที่ปัจเจกบุคคลสามารถเรียกร้องให้รัฐกระทำการที่เป็นประโยชน์แก่ตนด้วย เช่น สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล เป็นต้น สำหรับอีกมิติหนึ่งหนึ่ง สิทธิขั้นพื้นฐานย่อมมีฐานะเป็น “กฎหมาย” ที่มีผลผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทุกองค์กรโดยตรง

หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งในทางเนื้อหาของนิติรัฐ คือ หลักความพอสมควรแก่เหตุ หลักการนี้เรียกร้องให้การใช้อำนาจของรัฐจะต้องเป็นไปโดยพอเหมาะพอประมาณเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรม ในนิติรัฐ รัฐไม่อาจใช้มาตรการใดๆก็ได้เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตนต้องการ (ด้วยเหตุนี้แนวความคิด The end justifies the means จึงไปด้วยกันไม่ได้กับนิติรัฐ) การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมต้องใช้เครื่องมือหรือมาตรการทางกฎหมายที่ถูกต้อง พอเหมาะพอประมาณด้วย ดังนั้นแม้ว่าระบบกฎหมายจะมอบเครื่องมือหรือมาตรการทางกฎหมายให้องค์กรของรัฐดำเนินการ แต่หากการใช้เครื่องมือหรือมาตรการนั้นไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้ หรือวัตถุประสงค์นั้นอาจบรรลุได้ เพียงแค่ใช้เครื่องมือหรือมาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงน้อยกว่า หรือแม้ในที่สุดแม้ไม่มีเครื่องมือหรือมาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงน้อยกว่า แต่การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นั้นปรากฏว่าทำให้ปัจเจกบุคคลได้รับผลร้ายอย่างรุนแรง ต้องเสียหายเกินกว่าที่จะคาดหมายจากบุคคลนั้น ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับ การใช้เครื่องมือหรือมาตรการทางกฎหมายนั้นก็ย่อมไม่อาจกระทำได้ในนิติรัฐ นอกจากหลักความพอสมควรแก่เหตุแล้ว ในแง่เนื้อหา หลักนิติรัฐยังห้ามการกระทำตามอำเภอใจของรัฐ เรียกร้องให้รัฐต้องกระทำการโดยเคารพต่อหลักความเสมอภาค กล่าวคือ เรียกร้องรัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน ให้แตกต่างกันออกไปตามสภาพของสิ่งนั้นๆด้วย

3. หลักนิติธรรม (The Rule of Law)

3.1 พัฒนาการของหลักนิติธรรม9

คำว่าหลักนิติธรรมนั้น วงการกฎหมายไทยแปลมาจากคำว่า The Rule of Law ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในระบบกฎหมายอังกฤษ ในประเทศอังกฤษความคิดที่ว่ามนุษย์ไม่ควรต้องถูกปกครองโดยมนุษย์ แต่ควรจะต้องถูกปกครองโดยกฎหมายนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ ๑๗ ในหนังสือชื่อ “The Common Wealth of Oceana” อันเป็นผลงานของ James Harrington ซึ่งเป็นผู้ที่นิยมระบอบสาธารณรัฐอย่างแน่วแน่10 อย่างไรก็ตาม แม้จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ คำว่า rule of law ก็เหมือนกับคำว่า Rechtsstaat ที่ยากจะหาคำจำกัดความหรือนิยามซึ่งยอมรับกันเป็นยุติได้ การทำความเข้าใจความหมายของ rule of law จึงควรต้องทำความเข้าใจจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของอังกฤษซึ่งให้กำเนิดแนวความคิดนี้

แนวความคิดว่าด้วย rule of law หรือนิติธรรมอาจสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงยุคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งย้อนกลับไปถึง ค.ศ. ๑๒๑๕ ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าจอนห์น (King John) กษัตริย์อังกฤษในเวลานั้นได้ลงนามในเอกสารสำคัญที่ชื่อว่า Magna Carta11 เอกสารฉบับนี้เป็นพันธสัญญาที่กษัตริย์อังกฤษให้ไว้แก่บรรดาขุนนางของพระองค์ในการที่จะจำกัดอำนาจของพระองค์ลง อาจกล่าวได้ว่า Magna Carta เป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของมนุษย์ที่จะนำไปสู่การปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ในเวลาต่อมา เนื่องจากเอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารทางกฎหมายฉบับแรกที่ทำให้หลักการปกครองโดยกฎหมายได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และการประกันสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นไปอย่างชัดแจ้ง12 อย่างไรก็ตามไม่พึงเข้าใจว่าเมื่อมีการลงนามใน Magna Carta แล้วกษัตริย์เป็นอันถูกจำกัดอำนาจลงจนไม่มีอำนาจ ในเวลานั้นอำนาจยังคงอยู่ที่กษัตริย์ กฎเกณฑ์ที่จำกัดอำนาจกษัตริย์ลงในเวลานั้นก็มีแต่ Magna Carta และหลักกฎหมาย Common Law อันเป็นกฎหมายประเพณีที่รับสืบทอดและพัฒนามาโดยศาลเท่านั้น

แม้ว่าในเวลาต่อมาจะได้มีการตั้งรัฐสภาขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๒๖๕ แต่อำนาจในการปกครองบ้านเมือง (Prerogatives) ก็ยังคงอยู่ในมือของกษัตริย์อย่างเดิม จะถูกจำกัดลงบ้างก็เพียงเล็กน้อย อำนาจของกษัตริย์อังกฤษพัฒนาขึ้นถึงจุดสูงสุดในสมัยราชวงศ์ Tudor อันเป็นช่วงเวลาที่บทบาทของรัฐสภาถดถอยลง อาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นกษัตริย์อังกฤษมีอำนาจมากและเข้าใจวิธีการในการรักษาอำนาจของตนและจำกัดอำนาจของรัฐสภา อีกทั้งยังรู้จักที่จะใช้รัฐสภาเป็นฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนด้วย อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมารัฐสภาได้พัฒนาต่อไปกลายเป็นสถาบันซึ่งเป็นผู้แทนของกลุ่มคนต่างๆ และเริ่มมีบทบาทมากขึ้นจนกลายเป็นคู่ปรับสำคัญของกษัตริย์

ใน ค.ศ. ๑๖๒๘ ในยุคสมัยของพระเจ้าชาร์ลที่หนึ่ง (King Charles I ค.ศ.๑๖๐๐ ถึง ๑๖๔๙) รัฐสภาได้ตรา Petition of Rights ขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและเสรีภาพส่วนบุคคล โดยประกาศว่าผู้ปกครอง รัฐบาล ตลอดจนศาลต้องเคารพในสิทธิดังกล่าว ภายหลังจากได้มีการตรา Petition of Rights ได้สิบสองปี ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในอังกฤษ ตามมาด้วยการประหารชีวิตพระเจ้าชาร์ลที่ ๑ Petition of Rights ไม่ได้เป็นเพียงเอกสารที่กล่าวถึงความยินยอมในการเสียภาษีเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐสภาเป็นอย่างมาก13 ในเวลาต่อมาเอกสารฉบับนี้ได้ถูกเพิ่มเติมโดยเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า Habeas Corpus Act (ค.ศ. ๑๖๗๙) เอกสารฉบับหลังนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการประกันสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม เนื้อหาหลักของเอกสารฉบับนี้ คือ การให้สิทธิแก่บุคคลทุกคนที่ถูกจับกุม กล่าวคือ ในกรณีที่บุคคลใดถูกจับกุม บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องปกป้องตนเองต่อศาลโดยคำฟ้องที่เรียกว่า writ of habeas corpus ทันที14

รัฐสภาสามารถที่จะสถาปนาและขยายอำนาจของตนออกไปอย่างมั่นคงตามลำดับ การขยายอำนาจของรัฐสภามีผลทำให้กษัตริย์ค่อยๆถูกจำกัดอำนาจลง และในที่สุดกษัตริย์เริ่มรู้สึกว่ารัฐสภามีอำนาจมากเกินไปและเริ่มเป็นอันตรายต่อพระองค์เสียแล้ว การแข่งกันเพื่อครองอำนาจที่เหนือกว่าระหว่างรัฐสภากับกษัตริย์เป็นไปอย่างเข้มข้น และได้ก็เกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นในระหว่าง ค.ศ.๑๖๔๒ ถึง ๑๖๔๙ หลังจากสงครามกลางเมืองดังกล่าว การต่อสู้ก็คงดำเนินต่อไปอีก จนกระทั่งในที่สุดรัฐสภาก็กำชัยชนะได้ในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ระหว่าง ค.ศ.๑๖๘๘ ถึง ๑๖๘๙ ผลของการปฏิวัติดังกล่าวนำมาซึ่งเอกสารสำคัญอีกฉบับหนึ่ง คือ Bill of Rights และทำให้รัฐสภาอังกฤษกลายเป็นรัฐาธิปัตย์คู่กันกับกษัตริย์

โดยเหตุที่ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๗ ยังไม่ปรากฏแนวความคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจในอังกฤษ ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาที่ว่าใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัยในทางกฎหมายเป็นที่สุด อำนาจดังกล่าวควรอยู่กับกษัตริย์ สภา หรือศาล Francis Bacon (ค.ศ.๑๕๖๑ ถึง ๑๖๒๖) เห็นว่าโดยเหตุที่กษัตริย์มีอำนาจปกครองโดยเด็ดขาด และดำรงอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริงในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยรัฐสภา หรือ Common Law ที่พัฒนาขึ้นโดยศาล ดังนั้นกษัตริย์จึงมีอำนาจเหนือรัฐสภาและศาล15 ด้วยเหตุดังกล่าวกษัตริย์ย่อมต้องมีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ผ่านรัฐสภามาแล้วและมีอำนาจ ที่จะเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางปฏิบัติของศาลโดยสามารถตรวจสอบแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานตาม Common Law ได้ อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางการเมืองในเวลาต่อมาก็ไม่ได้เป็นไปตามแนวความคิดของ Francis Bacon เนื่องจากรัฐสภาสามารถจำกัดอำนาจกษัตริย์จนสำเร็จและได้กลายเป็นรัฐาธิปัตย์แทนที่กษัตริย์อังกฤษ และในช่วงที่รัฐสภาอังกฤษต่อสู้กับกษัตริย์อยู่นี้ ศาลก็ได้เข้ามีบทบาทด้วย โดย Sir Edward Coke (ค.ศ.๑๕๕๒ ถึง ๑๖๓๔) ได้พิพากษาคดีไปในทางยืนยันความเป็นกฎหมายสูงสุดของ Common Law ที่พัฒนาขึ้นโดยศาล โดยเห็นว่าทั้งกษัตริย์16และรัฐสภา17ย่อมต้องตกอยู่ภายใต้ Common Law กษัตริย์ก็ดี รัฐสภาก็ดีจะตรากฎหมายหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใดให้ขัดกับ Common Law ไม่ได้ และศาลทรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาดในการวินิจฉัยว่ากฎหมายหรือกฎเกณฑ์นั้นขัดหรือแย้งกับ Common Law หรือไม่ แม้ว่าแนวความคิดและคำพิพากษาของ Coke จะไม่ได้ทำให้ศาลกลายผู้ทรงอำนาจสูงสุดในระบบการปกครองของอังกฤษ เพราะศาลต้องผูกพันต่อกฎหมายที่สภาตราขึ้น จะอ้าง Common Law ปฏิเสธกฎหมายที่สภาตราขึ้นไม่ได้ แม้กระนั้นแนวความคิดของ Coke ที่ปรากฏในคำพิพากษาก็ได้เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลักนิติธรรมในอังกฤษจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ในศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐสภาเข้มแข็งมากแล้วนั้น คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โดยขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร และในเวลาต่อมาก็ค่อยสลัดตนเองพ้นจากอิทธิพลของราชวงศ์ เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๐ อาจกล่าวได้ว่าอังกฤษได้พัฒนาตนไปสู่ความเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยที่ยอมรับสิทธิเลือกตั้งของราษฎร สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษพัฒนาไปในทิศทางของการมีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคผลัดกันเข้ามาบริหารประเทศ โดยฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเริ่มมีอำนาจมากขึ้น และยังคงความเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้

3.2 เนื้อหาของหลักนิติธรรม

นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในการช่วยพัฒนาหลักนิติธรรม ก็คือ A.V. Dicey (ค.ศ.๑๘๓๕ ถึง ๑๙๒๒) ตำราของเขาที่ชื่อว่า Introduction to the Study of the Law of the Constitution (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.๑๘๘๕) ได้กลายเป็นตำรามาตรฐานและเป็นตำราที่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษส่วนใหญ่ต้องอ้างอิงเมื่อจะต้องอธิบายความหมายของหลักนิติธรรม Dicey เห็นว่า หลักนิติธรรมจะต้องสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา18 และหลักนิติธรรมนั้นย่อมมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ คือ บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย บุคคลไม่ว่าจะในชนชั้นใดย่อมต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายปกติธรรมดาของแผ่นดิน (the ordinary law of the land) ซึ่งบรรดาศาลธรรมดาทั้งหลาย (ordinary courts) จะเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งกฎหมายดังกล่าว19 หลักนิติธรรมในความหมายนี้ย่อมปฏิเสธความคิดทั้งหลายทั้งปวงที่จะยกเว้นมิให้บรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายต้องเคารพต่อกฎหมาย บุคคลทั้งหลายย่อมไม่ต้องถูกลงโทษ หากไม่ได้กระทำการอันผิดกฎหมาย และไม่มีผู้ใดทั้งสิ้นแม้แต่กษัตริย์ที่จะอยู่เหนือกฎหมายได้

กล่าวโดยรวมแล้ว Dicey เห็นว่า บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของรัฐบาลและฝ่ายปกครองจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย จะต้องไม่กระทำการก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของราษฎรตามอำเภอใจ หากปรากฏว่ารัฐบาลหรือฝ่ายปกครองกระทำการอันขัดต่อกฎหมาย การกระทำดังกล่าวย่อมต้องถูกฟ้องคดียังศาลยุติธรรมหรือศาลธรรมดาได้ เพราะรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ย่อมจะมีสิทธิพิเศษใดๆเหนือกว่าราษฎรไม่ได้ เราจะเห็นได้ว่าหลักนิติธรรมตามแนวความคิดของ Dicey นี้มุ่งเน้นไปที่ความผูกพันต่อกฎหมายของฝ่ายบริหาร ไม่ได้เรียกร้องฝ่ายนิติบัญญัติให้ต้องผูกพันต่อกฎเกณฑ์อื่นใดในการตรากฎหมาย

การที่ Dicey อธิบายเนื้อหาของหลักนิติธรรมในแง่ที่คนทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายและภายใต้ศาลเดียวกันตามหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ส่งผลให้ Dicey ปฏิเสธการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาเป็นอีกระบบศาลหนึ่งเคียงคู่ขนานกันไปกับศาลยุติธรรมหรือศาลธรรมดา โดย Dicey เห็นว่าหากจัดให้มีศาลปกครองหรือองค์กรอื่นซึ่งไม่ใช่ศาลยุติธรรมหรือศาลธรรมดาทำหน้าที่ตัดสินคดีปกครอง (ดังที่ปรากฏอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในเวลานั้น) แล้ว บรรดาข้าราชการต่างๆที่ถูกฟ้องในศาลปกครองว่ากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าราษฎรทั่วไป ซึ่ง Dicey เห็นว่าไม่ถูกต้อง แนวความคิดนี้ได้รับการยึดถือและเดินตามในบรรดาประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายอังกฤษจนถึงปัจจุบันนี้

นอกจากนี้แล้ว บรรดาสิทธิทั้งหลายทั้งปวงของราษฎรนั้นย่อมเกิดจากกฎหมายที่รัฐสภาได้ตราขึ้นและเกิดจากกฎหมายประเพณีที่พัฒนามาโดยศาล อาจกล่าวได้ว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของราษฎรอังกฤษไม่ได้รับการคุ้มครองและปกป้องโดยรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการปกป้องและคุ้มครองโดยรัฐสภาและศาล

โดยเหตุที่ในระบบกฎหมายอังกฤษ รัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ศาลของอังกฤษไม่อำนาจที่จะตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือชอบด้วยกฎหมายใดๆ หรือไม่ กล่าวในทางทฤษฎีแล้ว รัฐสภาอังกฤษสามารถตรากฎหมายให้มีเนื้อหาสาระอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิพลเมืองไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายอื่นใดที่จะผูกพันรัฐสภาอังกฤษได้ ระบบการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลในอังกฤษจึงแตกต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภาคพื้นยุโรปที่ถือว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลนั้นมีค่าบังคับในระดับรัฐธรรมนูญ และย่อมผูกพันรัฐสภาในการตรากฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่พึงเข้าใจว่าระบบกฎหมายอังกฤษไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในทางปฏิบัติสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายของรัฐสภาและโดย Common Law ที่พัฒนามาโดยศาลในมาตรฐานที่ไม่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆในภาคพื้นยุโรปเลย

แน่นอนว่าในทางทฤษฎี เมื่อยอมรับว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุด กรณีจึงอาจเป็นไปได้ที่รัฐสภานั้นเองจะกระทำการอันก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยตรากฎหมายจำกัดตัดทอนสิทธิของบุคคลเสียโดยไม่เป็นธรรม และเมื่อหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาอยู่เหนือกว่าหลักนิติธรรมเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรจากการคุกคามโดยรัฐสภาได้ แต่ทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะตามจารีตประเพณีแล้วรัฐสภาจะไม่ตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับหลักนิติธรรม ยิ่งไปกว่านั้นโดยเหตุที่การตรากฎหมายของรัฐสภาย่อมขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาล และพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลย่อมเป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลซึ่งครองเสียงข้างมากสนับสนุนให้ตรากฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงแล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งถัดมาย่อมเป็นที่คาดหมายได้ ในที่สุดแล้ว การตรากฎหมายของรัฐสภาจึงขึ้นอยู่กับเจตจำนงของประชาชน กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วประชาชนอังกฤษนั้นเองที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางหลักๆของการตรากฎหมาย และเมื่อกล่าวว่ารัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ในระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนามาในอังกฤษ ย่อมต้องเข้าใจว่ารัฐสภาย่อมทรงอำนาจสูงสุดในหมู่องค์กรต่างๆของรัฐ แต่ในที่สุดแล้ว ในทางการเมืองก็อยู่ใต้ประชาชน ดังนั้นในประเทศอังกฤษ การจำกัดอำนาจของรัฐสภาจึงไม่ได้เกิดจากกฎหมายเหมือนกับในภาคพื้นยุโรป แต่เกิดจากธรรมชาติทางการเมืองและจารีตประเพณีที่รับสืบต่อกันมา ในประเทศที่สิทธิเสรีภาพฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณประชาชาติเช่นประเทศอังกฤษนี้ ย่อมไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดเลยที่จะต้องบัญญัติกฎเกณฑ์ว่าด้วยความเป็นนิติรัฐ หรือบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิเสรีภาพเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นมาตราๆไป

แม้ว่าในปัจจุบัน การให้คำอธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาของหลักนิติธรรม อาจจะแตกต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียด แต่องค์ประกอบสำคัญของหลักนิติธรรมนั้น ตำราต่างๆก็ไม่ได้อธิบายความแตกต่างกันมากนัก องค์ประกอบที่สำคัญของหลักนิติธรรม คือ ความคาดหมายได้ของการกระทำของรัฐ ความชัดเจนของกฎหมาย ความมั่นคงของกฎหมาย ความเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมาย ความเป็นอิสระของศาล การเคารพในหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ ตลอดจนความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในยุคหลังมีผู้อธิบายลักษณะของกฎหมายที่จะช่วยสร้างให้เกิดการปกครองตามหลักนิติธรรม ดังเช่นคำอธิบายของ Lon L. Fuller นักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกันที่เห็นว่ากฎหมายที่จะทำให้หลักนิติธรรมปรากฏเป็นจริงได้นั้นต้องมีลักษณะสำคัญ20 คือ

1)กฎหมายจะต้องบังคับเป็นการทั่วไปกับบุคคลทุกคน ไม่เว้นแม้แต่องค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2)กฎหมายจะต้องได้รับการประกาศใช้อย่างเปิดเผย
3)กฎหมายจะต้องได้รับการตราขึ้นให้มีผลบังคับไปในอนาคต ไม่ใช่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับย้อนหลังไปในอดีต
4)กฎหมายจะต้องได้รับการตราขึ้นโดยมีข้อความที่ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการบังคับใช้ที่ไม่เป็นธรรม
5)กฎหมายจะต้องไม่มีข้อความที่ขัดแย้งกันเอง
6)กฎหมายจะต้องไม่เรียกร้องให้บุคคลปฏิบัติในสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้
7)กฎหมายต้องมีความมั่นคงตามสมควร แต่ก็จะต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้
8)กฎหมายที่ได้รับการประกาศใช้แล้วจะต้องได้รับการบังคับให้สอดคล้องต้องกัน กล่าวคือต้องบังคับการให้เป็นไปตามเนื้อหาของกฎหมายที่ได้ประกาศใช้แล้วนั้น

4.ผลของหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมและความแตกต่างระหว่างหลักการทั้งสอง

เมื่อพิจารณาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ประกอบกับการปรับใช้หลักนิติรัฐ และนิติธรรมในระบบกฎหมายเยอรมันและระบบกฎหมายอังกฤษแล้ว พบว่าหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมมีความแตกต่างกันอยู่ ทั้งในแง่ของบ่อเกิดของกฎหมาย วิธีการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน การกำหนดให้มีหรือไม่มีศาลปกครองและระบบวิธีพิจารณาคดี ตลอดจนการแบ่งแยกอำนาจ ดังจะชี้ให้เห็นได้ในเบื้องต้น ดังนี้

4.1 ความแตกต่างในแง่บ่อเกิดของกฎหมาย

ในระบบกฎหมายอังกฤษ ผู้พิพากษาซึ่งแต่เดิมเป็นผู้แทนของกษัตริย์นั้นได้เริ่มพัฒนา Common Law มาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ ๑๒ ทั้งนี้เพื่อให้อำนาจของกษัตริย์ที่ส่วนกลางมั่นคงเข้มแข็ง กฎหมายที่ศาลใช้ในการตัดสินคดีนั้นมีลักษณะทั่วไป กล่าวคือ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในราชอาณาจักร จึงเรียกว่า Common Law21 กฎหมายดังกล่าวได้รับการ “สร้าง” ขึ้นโดยผู้พิพากษา เมื่อศาลได้ตัดสินคดีใดคดีหนึ่งไปแล้ว หลักกฎหมายที่ศาลได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ตัดสินคดีก็ตกทอดต่อมาเป็นลำดับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริงในบ้านเมืองด้วย “กฎหมาย” ในระบบกฎหมายอังกฤษ จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่กฎหมายที่ได้รับการตราขึ้นโดยรัฐสภาที่เรียกว่า “Statute Law” เท่านั้น แต่ยังหมายถึงหลักการและแนวทางการตัดสินของผู้พิพากษา (Case Law) ที่เกิดจากจารีตธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตอันเป็นกฎเกณฑ์ที่ศาลยอมรับสืบต่อกันมา (Common Law) ด้วย เอกสารทางประวัติศาสตร์อย่าง Magna Carta (ค.ศ.๑๒๑๕) Petition of Right (ค.ศ.๑๖๒๘) Habeas Corpus (ค.ศ.๑๖๗๙) หรือ Bill of Right (ค.ศ.๑๖๘๙) ยังมีฐานะเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่ศาลสามารถนำมาใช้ตัดสินได้ในอังกฤษจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ อนึ่ง โดยเหตุที่ Common Law มีผลใช้บังคับได้ในคดีที่ศาลได้ตัดสินวางหลักไปแต่ละคดี คำว่า Case Law กับ Common Law จึงเป็นคำที่ใช้ในความหมายเดียวกัน นั่นคือหมายถึง กฎหมายที่เกิดจากผู้พิพากษา

การที่ระบบกฎหมายอังกฤษยอมรับให้ผู้พิพากษาสามารถ “สร้าง” กฎหมายขึ้นมาได้เองนี้ ส่งผลให้ระบบกฎหมายของอังกฤษมีลักษณะที่ยืดหยุ่น และสามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าในระบบกฎหมายอังกฤษ ศาลจะเปลี่ยนแปลงแนวการตัดสินอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะหลัก “satre decisis” คือ หลักที่ว่าศาลในคดีหลังต้องผูกพันตามหลักกฎหมายที่ศาลในคดีก่อนได้ตัดสินไว้แล้ว ยังเป็นหลักที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงแนวคำพิพากษาจึงไม่ใช่จะกระทำได้โดยง่าย

ในขณะที่ระบบกฎหมายอังกฤษเริ่มพัฒนามาโดยให้ผู้พิพากษามีอำนาจ “สร้าง” กฎหมายขึ้นมาได้นั้น ระบบกฎหมายในภาคพื้นยุโรปกลับมีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างออกไป เพราะในภาคพื้นยุโรปกฎหมายเกิดขึ้นจากการตราโดยกระบวนการนิติบัญญัติ ผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นผู้ที่รับใช้รัฐมีหน้าที่ในการปรับใช้กฎหมาย การตัดสินคดีของผู้พิพากษาในแต่ละคดีไม่มีผลเป็นการสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ แนวทางการตัดสินคดีของศาลในภาคพื้นยุโรปจึงไม่ถือว่าเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย

เมื่อเปรียบเทียบกับระบบกฎหมาย Common Law ของอังกฤษ ระบบกฎหมาย Civil Law ของภาคพื้นยุโรปมีลักษณะเป็นระบบกฎหมายที่ “ปิด” กว่า ข้อดีของระบบนี้ก็คือ ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะจะมีสูงกว่า แต่ก็อาจจะมีข้ออ่อนตรงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม การประมวลถ้อยคำขึ้นตัวบทกฎหมายในระบบกฎหมาย Civil Law นั้น ถ้อยคำจำนวนหนึ่งเป็นถ้อยคำเชิงหลักการ หรือถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง ศาลในระบบกฎหมาย Civil Law จึงมีความสามารถในการตีความตัวบทกฎหมายให้สอดรับกับความยุติธรรมและสภาพของสังคมได้เช่นกันภายใต้กรอบของนิติวิธี

4.2 ความแตกต่างในแง่ของการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

โดยเหตุที่ระบบกฎหมาย Common Law ในอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในอังกฤษ จึงไม่ได้เป็นการประกันในระดับรัฐธรรมนูญ สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในอังกฤษไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับโดยตรงและอยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดาที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติบุคคลย่อมได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานโดยองค์กรตุลาการ

ในภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายเยอรมัน การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลเป็นการคุ้มครองในระดับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการบัญญัติไว้ใน “กฎหมายพื้นฐาน” ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีนั้น ผูกพันทั้งองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในฐานะที่เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับได้โดยตรง22 ซึ่งหมายความว่าในการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ องค์กรนิติบัญญัติมีหน้าที่ในทางรัฐธรรมนูญที่จะต้องไม่ตรากฎหมายให้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน มิฉะนั้นย่อมต้องถือว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

4.3 ความแตกต่างในแง่ของการควบคุมตรวจสอบการตรากฎหมาย

ตามหลักนิติรัฐ องค์กรนิติบัญญัติย่อมต้องผูกพันต่อรัฐธรรมนูญในการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ เพื่อให้หลักความผูกพันต่อรัฐธรรมนูญขององค์กรนิติบัญญัติมีผลในทางปฏิบัติ ประเทศหลายประเทศที่ยอมรับหลักนิติรัฐจึงกำหนดให้มีองค์กรที่ควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่องค์กรนิติบัญญัติตราขึ้น องค์กรที่ทำหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้ โดยปกติแล้วย่อมได้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ อาจกล่าวได้ว่าตามหลักนิติรัฐ การตรากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติย่อมตกอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบขององค์กรตุลาการ อย่างไรก็ตามการควบคุมตรวจสอบการตรากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัตินั้น องค์กรตุลาการซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญด้วย ศาลรัฐธรรมนูญจึงควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติโดยเกณฑ์ในทางกฎหมาย ไม่อาจนำเจตจำนงของตนเข้าแทนที่เจตจำนงขององค์กรนิติบัญญัติได้

ในอังกฤษซึ่งเดินตามหลักนิติธรรมนั้น ถือว่ารัฐสภาเป็นรัฐาธิปัตย์ ในทางทฤษฎีรัฐสภาสามารถตรากฎหมายอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่อาจมีกรณีที่รัฐสภาตรากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ แม้หากว่าจะมีผู้ใดอ้างว่ารัฐสภาตรากฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี การอ้างเช่นนั้นก็หามีผลทำให้กฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภานั้นสิ้นผลลงไม่ ศาลในอังกฤษไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา และด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ การควบคุมการตรากฎหมายของรัฐสภาอังกฤษจึงเป็นการควบคุมกันทางการเมือง ไม่ใช่ทางกฎหมาย
เมื่อพิจารณาจากองค์กรที่ตรากฎหมาย ตลอดจนกระบวนการควบคุมตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว เราอาจจะกล่าวได้ว่า หลักนิติรัฐที่พัฒนามาในเยอรมนีสัมพันธ์กับหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการ ในขณะที่หลักนิติธรรมที่พัฒนามาในอังกฤษสัมพันธ์กับหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา

4.4 ความแตกต่างในแง่ของการมีศาลปกครองและระบบวิธีพิจารณาคดี

ระบบกฎหมายอังกฤษไม่มีการแบ่งแยกกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชนออกจากกัน ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงไม่มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาเป็นอีกระบบศาลหนึ่ง โดยเฉพาะคู่ขนานไปกับศาลยุติธรรมดังที่ปรากฏในภาคพื้นยุโรป ในการฟ้องร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครองนั้น ราษฎรอังกฤษอาจฟ้องได้ในศาลยุติธรรมหรือศาลธรรมดา โดยหลักนิติธรรมถือว่าทั้งราษฎรและองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและภายใต้ศาลเดียวกัน
ระบบกฎหมายเยอรมันซึ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนออกจากกันนั้น ไม่ได้ยึดถือหลักการทำนองเดียวกับหลักนิติธรรมในอังกฤษที่เรียกร้องให้การพิจารณาพิพากษาคดีต้องภายใต้ “ศาลปกติธรรมดา” (ordinary court) เท่านั้น ปัจจุบันนี้ประเทศเยอรมนีมีระบบศาลแยกออกต่างหากจากกันถึงห้าระบบศาล (ยังไม่นับศาลรัฐธรรมนูญ) คือ ระบบศาลธรรมดา (ศาลยุติธรรม) ระบบศาลปกครอง ระบบศาลแรงแรงงาน ระบบศาลภาษีอากร และระบบศาลสังคม โดยคดีปกครองจะได้รับการพิจารณาจากศาลใน ๓ ระบบศาล คือ คดีปกครองทั่วไป จะได้รับการพิจารณาโดยศาลปกครอง ส่วนคดีปกครองที่มีลักษณะเฉพาะ คือ คดีภาษีอากร จะได้รับการพิจารณาโดยศาลภาษีอากร และคดีสังคม (ข้อพิพาทอันเกิดจากกฎหมายประกันสังคม ฯลฯ) จะได้รับการพิจารณาโดยศาลสังคม

อาจกล่าวได้ว่าในขณะที่หลักนิติธรรมที่พัฒนามาในระบบกฎหมายอังกฤษปฏิเสธการจัดตั้งศาล “เฉพาะ” เพื่อพิจารณาพิพากษาคดี เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดความไม่เสมลอภาคหรือไม่เท่าเทียมกันนั้น หลักนิติรัฐที่พัฒนามาในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีข้อกังวลต่อปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามแนวคิดที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ระหว่างระบบกฎหมายอังกฤษ กับระบบกฎหมายเยอรมันส่งผลต่อการออกแบบระบบวิธีพิจารณาคดีตลอดจนการนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นศาลด้วย กล่าวคือ ในระบบกฎหมายอังกฤษ ศาลอังกฤษจะทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่างเคร่งครัด ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานของคู่ความในคดีไม่ว่าคดีนั้นจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง จะควบคุมกระบวนพิจารณาให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างเป็นธรรม แล้วตัดสินคดี บทบาทของผู้พิพากษาในอังกฤษจึงเป็นเสมือนผู้ที่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยทำให้ผลของคดีมีลักษณะเป็นการชดเชยให้ความเป็นธรรม23 ในระบบกฎหมายเยอรมัน ในคดีทางกฎหมายมหาชน ศาลเยอรมันมีอำนาจในการค้นหาความจริงในคดีโดยไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับพยานหลักฐานที่คู่ความได้ยื่นมาเท่านั้น ผู้พิพากษาเยอรมันจึงเปรียบเสมือนเป็นแขนของกฎหมายที่ยื่นออกไป มีลักษณะเป็นผู้แทนของรัฐที่ถือดาบและตราชูไว้ในมือ วินิจฉัยคดีไปตามกฎหมายและความยุติธรรม และบังคับใช้กฎหมายให้บรรลุผล24 เมื่อเปรียบเทียบบทบาทของผู้พิพากษาอังกฤษกับเยอรมันแล้ว จะพบว่าผู้พิพากษาเยอรมันจะมีบทบาทมากกว่าในการขับเคลื่อนกระบวนพิจารณาคดี ในขณะที่ผู้พิพากษาอังกฤษจะทำหน้าที่คล้ายเป็นคนกลางผู้ควบคุมกฎการต่อสู้คดีเท่านั้น แม้กระนั้นอำนาจของผู้พิพากษาศาลอังกฤษในแง่ของการสั่งลงโทษบุคคลก็มีมากกว่าผู้พิพากษาของศาลเยอรมัน ในคดีปกครองศาลอังกฤษอาจสั่งลงโทษบุคคลฐานละเมิดอำนาจศาลได้ แม้บุคคลนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ในขณะที่ศาลปกครองเยอรมัน แม้ศาลจะมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการได้ แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติ ศาลปกครองก็ไม่มีอำนาจสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่โดยถือว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดอำนาจศาลได้25

4.5 ความแตกต่างในแนวความคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ

หลักนิติรัฐถือว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นหลักการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ ในขณะที่เมื่อพิเคราะห์คำอธิบายว่าด้วยหลักนิติธรรมแล้วจะเห็นได้ว่าไม่ปรากฏเรื่องการแบ่งแยกอำนาจในหลักนิติธรรม ในทางตำราก็ปรากฏข้อถกเถียงกันอยู่ว่าตกลงแล้วในอังกฤษมีการแบ่งแยกอำนาจจริงหรือไม่ นักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่าในอังกฤษรัฐสภากับรัฐบาลมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในอังกฤษมีการมอบอำนาจให้องค์กรฝ่ายปกครองออกกฎหมาย บังคับการตามกฎหมาย และอาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในลักษณะที่เป็นการกระทำในทางตุลาการด้วย ดังนั้นจึงอาจจะพอกล่าวได้ว่าอังกฤษไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ26 อย่างน้อยก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกอำนาจในความหมายเดียวกันกับที่ปรากฏในภาคพื้นยุโรป อย่างไรก็ตามในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรตุลาการ ทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต่างมีองค์ประกอบประการหนึ่งตรงกัน คือ การยอมรับความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ

5. บทส่งท้าย

ถึงแม้ว่าหลักนิติรัฐกับหลักนิติธรรมจะมีความแตกต่างกันอยู่ แต่หลักการทั้งสองต่างก็เป็นหลักการที่มุ่งจะสร้างความยุติธรรมและสันติสุขให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมายเหมือนกัน และคงจะตอบได้ยากว่าหลักการใดดีกว่าหลักการใด หากนำเอาแนวความคิดทั้งสองมาพิเคราะห์เพื่ออธิบายระบบกฎหมายไทยโดยมุ่งไปที่การจัดโครงสร้างขององค์กรของรัฐในรัฐธรรมนูญไทยตลอดจนการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรแล้ว จะเห็นได้ว่าในแง่ของรูปแบบ ระบบกฎหมายไทยพยายามจะเดินตามแนวทางของหลักนิติรัฐที่พัฒนามาในภาคพื้นยุโรป ดังจะเห็นได้จากการยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา ๓ การยอมรับหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในมาตรา ๖ ตลอดจนการประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎรไว้ในหมวด ๓ แม้กระนั้นเมื่อพิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ประกอบกับทางปฏิบัติที่เกิดจากการปรับใช้รัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังห่างไกลจากความเป็นนิติรัฐมากนัก แม้มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญจะประกาศยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่หลักการดังกล่าวก็ได้ถูกทำลายลงในมาตรา ๒๓๙ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลก่อนประกาศผลการเลือกตั้งและให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด ซึ่งเท่ากับให้อำนาจองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการเลือกตั้งเป็นศาลได้ในตัวเอง แม้รัฐธรรมนูญจะยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลใน หมวด ๓ แต่ก็ทำลายหลักการประกันสิทธิทางการเมืองของบุคคลในมาตรา ๒๓๗ ที่กำหนดการให้การกระทำความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองทั้งพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม แม้มาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญจะประกาศหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่หลักการดังกล่าวก็ถูกทำลายลงในมาตรา ๓๐๙ เพราะตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แม้จะกระทำต่อไปในอนาคต ก็ได้รับการรับรองไว้ล่วงหน้าแล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มิพักต้องคำนึงว่าการกระทำนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อพิจารณาในทางนิติศาสตร์แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขัดแย้งกันเองมากที่สุดฉบับหนึ่ง หากไม่พิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งฉบับบนพื้นฐานความเข้าใจแนวความคิดว่าด้วยนิติรัฐหรือนิติธรรมที่ยอมรับนับถือกันในสากลแล้ว ก็ย่อมจะไม่เห็นการซ่อนเร้นอำพรางแนวความคิดทางกฎหมายที่เป็นปรปักษ์กับหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม ไม่ว่าอย่างไรก็ตามหากแนวความคิดที่ปรปักษ์กับหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมยังคงถูกอำพรางอยู่ในรัฐธรรมนูญในนามของการปกครองแบบไทย ๆ ดังที่มีความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับที่อำพรางว่าเป็นนิติรัฐนี้แล้ว ความยุติธรรมและสันติสุขในระบบกฎหมายย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้.

---------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

นักศึกษากฎหมายไทย: คดีเชอรี่เเอน คดีที่โลกต้องจำ...

นักศึกษากฎหมายไทย: คดีเชอรี่เเอน คดีที่โลกต้องจำ...

คดีเชอรี่เเอน คดีที่โลกต้องจำ...

เชอร์รี่ แอน ดันแคน สาวน้อยวัย 16 ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ต้องมาจบชีวิตอย่างอนาถด้วยวัยเพียงแค่ 16 เพียงเพราะผู้ชายสูงวัยที่ไม่เคยรู้จักคำว่า "พอ" ในกิเลส-ตัณหา โดยในเรื่องนี้นั้นก็ได้พบกับความทุกข์ของบรรดาแพะรับบาปทั้งหลายที่ต้องมาทนทุกข์ในคดีนี้โดยที่ตนเองไม่มีความผิด เรามาดูเรื่องราวนี้กัน






เชอรี่แอน คดีตราบาปตำรวจชั่ว คดีที่โลกลืม

นี่เป็นบทกลอน"แพะรับบาป" ที่โลกลืมส่วนหนึ่ง ที่นายเฮาดี้ กนกชวาลชัย ได้ระบายความรู้สึกขณะ ที่ถูกจองจำร่วมกับพรรคพวก ในคดีฆาตกรรมนางสาวเชอรี่แอน ดันแคนที่เกิดขึ้น เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เป็นคดีที่มีผู้ถูกยัดเยียดให้ต้องรับผิดทั้งที่ความผิดนั้นตนเองมิได้ เป็นผู้ก่อ หรือที่เรียกกันตามประสาชาวบ้านว่าเป็น "แพะรับบาป"

"…พ่อทำผิด อะไร ที่ไหนลูก
พ่อจึงถูกตำรวจจับ มากักขัง
พ่อเคยทำ อะไร กับใครบ้าง
จึงถูกขัง ถูกจำจอง อยู่ห้องกรง

โธ่, ลูกเอ๋ย เคยคิด พ่อผิดมั้ย ?
แล้วเหตุใด เขาจึงคิด จิตลุ่มหลง
จับพ่อมา กล่าวหา ว่า "ฆ่าคน"
ในกมล พ่อไม่คิด สักนิดเดียว

พ่อจากไป เพียงร่าง ที่ห่างเจ้า
ส่วนใจเล่า ยังชะแง้ อยู่แลเหลียว
ไม่เคยลืม เจ้าสักว่า นาทีเดียว
"ใจ" ห่วงเหนียว ลูกยา ทุกนาที…"



รู้ไหมคะว่าคดีที่โด่งดังในไทยชนิดเป็นตำนานชนิดถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทย มีอยู่ 3 คดีด้วยกัน
นวลฉวี,
ยอดหญ้าสยามล,
เชอรี่แอน

ทำไมหรือ? นั้นก็เป็นเพราะมันอยู่ในความทรงจำผู้คนมาเนิ่นนาน บางเรื่องยาวนานหลายทศวรรษ


เชอรี่แอนก็เช่นกัน เป็นภาพสะท้านที่ชัดเจนที่สุด ถึงการฆาตกรรมที่สุดโด่งดัง แม้วิธีการไม่โหดเหี้ยมอะไรมากมาย ไม่ซับซ้อนสักนิด แต่สิ่งที่ต้องให้คดีนี้เป็นที่กล่าวถึงนั้นก็คือส่งผลร้ายแก่ แพะรับบาปหลายๆ คนและผู้เกี่ยวข้องได้ ตราบจนถึงทุกวันนี้


เชอรี่แอน เด็กสาวลูกครึ่งอายุแค่ 16 ปีคนหนึ่ง ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า สะพานแห่งความตาย คือความสวยสะพรั่ง และความสดสวยของเธอเอง นั้นคือบทบันทึกโศกนาฎกรรมแห่งชีวิต ความรัก และความตายของเธอเชอรี่แอน ดันแคน




25 กรกฎาคม พ.ศ. 2529

ในป่าแสมบางสำราญ บริเวณหลัก กิโลเมตรที่ 42 ของถนนสุขุมวิท(สายเก่า) ตำบลปางปูใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ

วันนี้ นางสงัดกับนางสายหยุด ศรีเมือง สองสามีภรรยา ชาวบ้านที่ อาศัยในบริเวณนั้นตื่นเช้ามาเพื่อช่วยกันหาและจับปูในป่าแสนซึ่งเป็นป่าชายเลนเพื่อนำไปขายเป็นรายได้เลี้ยงชีพเหมือนทุกวันที่ผ่านมา

แต่วันนี้เปลี่ยนไป เพราะวันนี้นอกจากทั้งคู่จะเจอปูแล้ว ยังเจอศพผู้หญิงอีกด้วย เธอนอนเสียชีวิตอยู่ในร่องน้ำบริเวณในป่าชายเลน แน่นอน.......

ทั้งคู่ตกใจรีบไปแจ้งตำรวจสภอ.สมุทรปราการ หลังตำรวจได้รับแจ้ง ไม่กี่นาทีต่อมาก็ยกกำลังพลเกือบหมดโรงพักมายังที่เกิดเหตุจากการสันนิษฐานชั้นแรกว่า เธออาจเป็นสาวโรงงานในละแวกนั้น อาจถูกลวงมาฆ่า ข่มขื่น เหมือนคดีฆาตกรรมที่เล็กทั่วๆ ไป แต่นี้ไม่ใช่ ข่าวเล็ก ข่าวนี้ ต่อมาได้กลับกลายเป็นข่าวสุดดังไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา


เพราะจากการสืบ พบว่า ศพนั้นคือ นางสาว เชอรี่แอน ดันแคน นักเรียนสาวลูกครึ่งวัย 16 ปีของโรงเรียนพระกุมารเยชูวิทยา ซอยสุขุมวิท 101 เธอถูกฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น อาจจะถูกบีบคอเสียชีวิต เพราะสภาพศพไม่พบบาดแผลใดๆ แน่นอนการสอบสวน บุคคลที่เกี่ยวข้องกลุ่มแรกกับความตายของเธอกลุ่มแรก ประกอบไปด้วย มิสเตอร์โจ และนางกลอยใจ ดันแคน พ่อแม่บังเกิดเกล้าของเธอ

คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ตำรวจเรียกมาสอบสวนคือ นายวินัย ชัยพานิช หรือเรียกเล่นๆ ว่าแจ๊ค เสี่ยใหญ่วัย 43 ปี (ในขณะนั้น) เจ้าของธุรกิจก่อสร้างมากมายหลายแห่ง ซึ่งฐานานุรูปของเขาคือเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูสาวน้อยเชอรี่แอน (เลี้ยงต้อย?)

ประเด็นสำคัญ จากบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สมุทรปราการ ปรากฏว่า นายวินัย ได้แจ้งถึง การหายตัวของ เชอรี่แอนไว้ เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม หลังการพบศพหนึ่งวัน

ในขั้นแรกของคดี ตำรวจยังมืดมน เนื่องจากไม่มีหลักฐานประกอใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งพยานบุคคลในที่เกิดเหตุและหลักฐานแวดล้อมรอบข้าง รวมทั้งวิทยาการสอบสวนในสมัยนั้นอาจยังไม่รุดหน้าเท่าทุกวันนี้

จากการสืบสวนเพื่อนสนิทของเชอรี่แอน พบว่า ตอนเย็นวันที่ 22 กรกฏาคม หลังเลิกเรียนแล้ว ทุกคนเห็นเชอรี่แอน เดินขึ้นแท็กซี่ ที่มาจอดรอรับเธออยู่หน้าโรงเรียนตามลำพัง และนี้คือภาพสุดท้ายที่เห็นเชอรีแอน เพื่อนๆ ของเชอรี่แอนไม่มีใครจำทะเบียนรถคนนั้นได้ และรูปพรรณสัณฐานของโชเฟอร์แท็กซี่ทุกอย่างมืดมนหนักขึ้นไปอีก


สื่อมวลชนในสมัยนั้น โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เริ่มติดตามข่าวคดีนั้นอย่างต่อเนื่อง กัดแบบไม่ปล่อย เพราะทุกอย่างไม่คืบหน้า


เมื่อตำรวจหาหลักฐาน พยานไม่ได้ สื่อก็เร่ง คดีได้รับความสนใจของประชาชน ทำให้ตำรวจจำเป็นต้องปิดคดีนี้ให้เร็วที่สุด



21 สิงหาคม พ.ศ.2529

กลุ่มฆาตกร และผู้บงการในการฆาตกรรม นางสาวเชอรี่แอน ดันแคน ถูกจับยกแก๊งค์ ราวกับอภิหารหารย์ ซ้อนปาฏิหารย์

พ.ต.ท.เลิศล้ำ ธรรมนิสา รองผู้กำกับ สภอ.สมุทรปราการ (ยศและตำแหน่งในเวลานั้น) แถลงการณ์ข่าวการจับกุมต่อสื่อมวลชน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ต้องหา 5 ชีวิตคือ

จำเลยที่ 1 นายวินัย ชัยพานิช
จำเลยที่ 2 นายรุ่งเฉลิม กนลชวาลชัย
จำเลยที่ 3 นายพิทักษ์ ค้าขาย
จำเลยที่ 4 นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม
จำเลยที่ 5 นายธวัช กิจประยูร


ทั้ง 5 คน 5 ชีวิต ถูกตราหนาจากสังคมว่าเป็นกลุ่มฆาตกร ที่มีส่วนร่วมสังหาร นางสาวเชอรี่ แอน อย่างเลือดเย็น สื่อมวลชน ประชาชน ตราหน้า รุมสาปแช่งพวกเขา ลงทัณฑ์ว่า พวกเขาต้องถูกประหารชีวิต


นายวินัย ชัยพานิช จำเลยที่ 1 ถูกตั้งข้อหาว่า เป็นผู้บงการฆ่า ซึ่งในสำนวนกฎหมายคือ ผู้ใช้-ผู้จ้างวานคนอื่น คือจำเลยที่ 2 3 4 5 ซึ่งเป็นลูกน้องหรือ ผู้ใต้บังคับบัญชาไปวางแผนสังหาร ผู้อื่นโดยวางแผนและไตร่ตรองไว้ก่อน


ง่ายยิ่งกว่าง่ายยิ่งกว่าต้มมาม่า 3 นาทีหรือยิ่งกว่าการ์ตูนอีก เพราะระยะเวลาแค่ 27 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถับกุมกลุ่มฆาตกร ได้ยกแก๊งครบทุกโบกี้ครบที่นั่งแบบนี้


ภาพละครที่สร้างขึ้นแหกตาคนทั้งประเทศ

เมื่อข่าวนี้เป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วประเทศ ทุกคนเริ่มสนใจกลุ่มฆาตกรในคดีนี้มากขึ้น เสียงวิพากษ์เป็นในทางเดียวกัน คือขอให้ศาลตัดสินประหารชีวิตฆาตกรกลุ่มนี้


เบื้องหลังการจับกุมแพะกลุ่มนี้ เกิดขึ้นหลังการตายของเชอรี่แอนประมาณ 2 สัปดาห์


นายประเมิน โพชพลัด อาชีพขับสามล้อรับจ้าง เดินเข้ามาหานางกลอยใจดันแคน หลังจากที่เห็นรูป และเรื่องราวข่าวสะเทือนขวัญบนหน้าหนังสือพิมพ์ เขาให้การกับตำรวจ ในเวลาต่อมา ในวันที่เกิดเหตุ เขากำลังขับรถตระเวนหาผู้โดยสารอยู่ในซอยสวนพลู เขตยานนาวา ณ จุดหนึ่งริมถนน เขาเหลือบไปเห็น จำเลยที่ 2 นายรุ่งเฉลิม กนล และชวาลชัย จำเลยที่ 3 นายพิทักษ์ ค้าขาย กำลังประคองเชอรี่แอน ออกมาจากซอยแห่งหนึ่ง เธออยู่สภาพสลบไสล ไม่รู้สึกตัว โดยมี จำเลยที่ 1 นายวินัย ชัยพานิช จำเลยที่ 4 นายกระแสร์ พลอยกลุ่มและ จำเลยที่ 5 นายธวัช กิจประยูร เดินตามมาข้างหลัง


นายประเมินจอดรถ ถามคนกลุ่มนั้นว่า ต้องการให้พาไปโรงพยาบาลหรือไม่....แต่ได้รับการปฏิเสธ


นายประเมินได้ให้การกับผู้พิพากษาในเวลาต่อมาว่าจำหน้าเด็กผู้หญิงคนนั้นดี และแม่นยำ เพราะเธอเป็นสาวลูกครึ่ง หน้าตาสวยมาก เขาทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าเธอถูกฆ่าตาย จึงเดินทางมาเพื่อเป็นพยานให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2529

และนี้คือพยานปากเอกคนเดียวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีในตอนนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่ม 5 คน ถูกจับกุมดำเนินคดี


โดยหารู้ไหมว่า...นายประเมินคือพยานเท็จ!


เขาถูกจ้างโดยตำรวจเพื่อใส่ความผู้ต้องหาทั้ง 5 โดยรับค่าจ้างแค่สังกะสีไม่กี่แผ่นเพื่อนำมาซ่อมหลังคาบ้าน สังกะสีที่แลกกับชีวิตของผู้บริสุทธิ์ทั้ง 5 คน


กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกเข้าจับ นายวินัย และลูกน้อง ถึงหน้าบริษัทเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม


นายวินัยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการและจ้างวานให้ฆ่าเชอรี่แอน และต่อมาเขาเป็นเพียงคนเดียว ที่ไม่ถูกอัยการฟ้อง จนถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 จนถูกปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 เนื่องจากอัยการพิจารณาแล้วว่า หลักฐาน และสำนวน ที่ตำรวจยื่นฟ้องมานั้น อ่อนหัด และมั่วตั๊วเกินไป


แต่จำเลยอีก 4 คนเหลือ ต้องรับซะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ พวกเขาทั้งหมดถูกตัดสินประหารชีวิต จากศาลชั้นต้น


ก่อนรอประหาร ทั้งหมดถูกจำคุกใกล้ตะแลงแกง ที่นั้นมีทั้งโรคระบาด อาหารไม่สะอาด หนู แมงสาป สุขอนามัยสุดเลวร้าย


จำเลยทั้งสี่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการและศาลอุทธรณ์ได้รับ ไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายรุ่งเฉลิม หรือเฮาดี้ กนกชวาลชัย จำเลยที่ 1 เจ้าของบทกลอนข้างต้น ได้ถึงแก่ความ ตายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2534 ที่เรือนจำบางขวาง ส่งผลให้ศาลจังหวัดสมุทร ปราการสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1


ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2535 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา และในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2536 ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วมีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2536 พิพากษา ยืนตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ อันเป็นสิ่งแสดงว่าจำเลยที่ยังมีชีวิตอยู่ในคดีดังกล่าวเป็น "ผู้บริสุทธิ์"


ต่อมาหลังจากการต่อสู้ในศาลฏีกา......ได้มีการเปลี่ยนคำพิพากษาออกมายกฟ้องพวกเขาทั้งหมด แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะความทุกข์ทรมานที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ได้ส่งผลให้.........


นายพิทักษ์ ติดโรคร้ายมาจากคุก และมาเสียชีวิตลงเมื่อปลายปี 2536 เมื่อพ้นคดีออกจากคุกมาเพียง 5 เดือน

นายธวัชเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตามหลังนายพิทักษ์ไม่นานมานัก


ส่วนนายกระแสร์ พลอยกลุ่ม คือแพะในคดีเชอรี่แอน เพียงคนเดียวที่มีชีวิตรอด


นายกระแสร์ ได้พูดหลังออกจากคุกว่า "…ก่อนเข้าคุกข้าพเจ้ามีครอบครัว ภรรยาอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ในคุกภรรยาข้าพเจ้าเครียดมากจนเสียชีวิต ต่อมาลูกสาวอายุ 17 – 18 ปีถูกฆ่าข่มขืน ข้าพเจ้าอยู่ในคุกไม่มีใครบอกว่าลูกสาวข้าพเจ้าโดนฆ่าตาย ข้าพเจ้าก็ไม่รู้เรื่องเขาปิดกัน ลูกสาวกำลังสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ถ้าเกิดข้าพเจ้าซึ่งเป็น พ่อยังอยู่ข้างนอก ก็ยังดูแลเขาได้ไม่โดนฆ่า ต่อมาลูกชายก็หายสาปสูญยังหาไม่เจอ…"


นายกระแสร์ เริ่มเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยน้ำเสียงช้าๆ ว่า

"เมื่อปี 2529 นางสาวเชอรี่แอน ดันแคน ถูกฆ่าตาย ตำรวจปากน้ำก็มาแจ้งจับพวกข้าพเจ้ากับเสี่ยวินัย ชัยพาณิชไปจับ รุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย พิทักษ์ ธวัช จับไปปากน้ำว่าร่วมกันฆ่านางสาวเชอรี่แอน แต่พวกเราไม่ได้ฆ่า บอกกับตำรวจ กับใครตอนนั้นก็ไม่มีใครเชื่อ นักข่าวประโคมข่าวมาก ตำรวจปากน้ำชื่อ พ.ต.อ.มงคล ศรีโพธิ์ และพ.ต.อ.สันติ เพ็งสูตร เอาตัวนายประเมิน โภชน์พัฒน์ มาชี้ตัวโดยดูรูปจากตำรวจก่อนและให้เงินนายประเมิน 500 บาท แล้วมาชี้ตัวว่าพวกเราเป็นคนประคองเชอรี่แอนลงมาจากตึกคอนโดมิเนียมของเสี่ยวินัย จากนั้นอัยการก็สั่งฟ้องเรา ศาลตัดสินประหารชีวิตพวกเรา 4คน แต่ยกฟ้องเสี่ยวินัย เราถูกส่งเข้าไปอยู่ในแดนประหาร คุกบางขวาง จนปี 2535 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่รุ่งเฉลิม ตายในคุกก่อนที่ศาลจะอุทธรณ์จะพิพากษา เพราะคิดมากเครียด เนื่องจากตัวเองไม่ได้ทำความผิด ลูกเขาก็ยังเล็กๆ อยู่ในสมัยนั้น ตัวข้าพเจ้าเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาเจ้านายเก่าบริษัทยามประกันตัวให้ออกมาได้ แต่พิทักษ์และธวัช ยังติดอยู่ในบางขวาง เพราะต้องรอศาลฎีกา แต่ออกมาได้ไม่เท่าไหร่ก็เสียชีวิตทั้ง 2 คนเพราะติดโรคมาจากในเรือนจำ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าตายปีไหน ตอนข้าพเจ้าโดนจับถูกตำรวจซ้อม หัวฟาดกับโต๊ะ ทำให้มึน ประสาทเลยช้าคิดอะไรช้า


ผู้ต้องหาโดนซ้อมจนสมองชา

"ตอนที่ข้าพเจ้าถูกจับข้าพเจ้าไม่รับสารภาพ ข้าพเจ้าถูกตำรวจหลายคนซ้อม เยอะ หลายคนจำไม่ได้ มีตำรวจนอกเครื่องแบบด้วย ไม่ทราบว่าใครบ้าง ถูกซ้อมจนกระดูกสันหลังร้าว ไปหาหมอตามคลินิคเขาฉายเอ็กซเรย์ให้ข้าพเจ้า ขณะที่ศาลชั้นต้นกำลังจะตัดสิน แล้วข้าพเจ้าก็ไม่มีตังค์ที่จะผ่า พอศาลตัดสินข้าพเจ้าก็เข้าเรือนจำปากน้ำไปเลย พอออกมาแล้วหลักฐานฟิล์มเอ็กซเรย์ก็ไม่รู้ หมอหายไปอยู่ไหนหมดแล้ว จากกระดูกสันหลัง ทำให้หัวคิดช้า คิดอะไรคิดออก แต่ช้า เพราะมึน ตอนที่ตำรวจซ้อมหัวฟาดพื้น สมัยก่อนโรงพักปากน้ำเป็นไม้ เก้าอี้เป็นไม้ พอถูกถีบก็หงายท้องเลยหลังกระแทกโต๊ะที่นั่งหัวฟาด ขณะนี้พอเวลาเดินเร็วๆ ขาจะชามาจากหลัง นอนหงายไม่ได้ ต้องนอนตะแคง ช่วงที่อยู่ในคุกมีหมอก็ขอยาแก้ปวดบ้าง แม่ส่งน้ำมันไปให้ทาบ้าง


เข้าคุกทั้งที่ไม่ผิด

"ตอนเสี่ยวินัยเขายกฟ้องพวกข้าพเจ้าโดนตัดสินประหารชีวิต เสี่ยวินัย ก็ไปวิ่งเต้นแจ้งทางกองปราบปราม ทีนี้กองปราบปรามเขารู้แล้วว่าพวกข้าพเจ้าไม่มีความผิด กองปราบปรามติดตามคดีอย่างเงียบๆ กำลังตามจับผู้ต้องหาตัวจริงแล้วก็แจ้งมาที่โรงพักปากน้ำว่า พวกนี้ไม่มีความผิด ตัวจริงกำลังจะจับอยู่ แต่ตำรวจปากน้ำไม่เชื่อให้ศาล อัยการสูงสุดดำเนินเรื่องต่อไป ไม่ยอมปล่อยพวกข้าพเจ้าทั้งที่รู้ว่าไม่ผิด อยู่ในคุกไม่มีใครช่วยหรือต่อสู้ให้ ภาวนาอย่างเดียวให้เรารอด เพราะเราไม่ได้ทำความผิด เราอยู่ในคุกเรายังไม่รู้ว่ากองปราบปรามกำลังดำเนินการ พอเขาจับตัวจริงได้เราก็รอด ศาลยกฟ้องก่อนแล้วจึงจับผู้ต้องหาตัวจริง หลังศาลยกฟ้องไม่มีใครยื่นมือมาช่วย คนที่ไม่เคยทำผิดอยู่ๆ ศาลตัดสินประหารชีวิต จิตใจที่ยืนอยู่ตรงนั้นจะเป็นอย่างไร อย่างเฮาดี้ (นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย) เป็นลมพับตรงนั้น นอกนั้นพากันร้อง เป็นลมหมด ก็เขาไม่ได้ทำความผิดแล้วศาลตัดสินประหาร คนไม่ผิดความรู้สึกตอนนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นคนอื่นจะเป็นอย่างไร พอศาลตัดสินก็ต้องเข้าคุกไป


ผู้ต้องหา- เมียตายลูก-สาวโดนฆ่าข่มขืน-ลูกชายหายสาปสูญ

"ก่อนเข้าคุกข้าพเจ้ามีครอบครัว ภรรยาอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ในคุก ภรรยาข้าพเจ้าเครียดมากจนเสียชีวิต ต่อมาลูกสาวอายุ 17-18 ปีถูกฆ่าข่มขืน ข้าพเจ้าอยู่ในคุกไม่มีใครบอกว่าลูกสาวข้าพเจ้าโดนฆ่าตาย ข้าพเจ้าก็ไม่รู้เรื่องเขาปิดกัน ลูกสาวกำลังสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ถ้าเกิดข้าพเจ้าซึ่งเป็นพ่อยังอยู่ข้างนอกก็ยังดูแลเขาได้ ไม่โดนฆ่า ต่อมาลูกชายก็หายสาปสูญยังหาไม่เจอ


ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมตำรวจ 25 ล้าน

"ช่วงเกิดคดีสื่อมวลชนออกข่าวทั่วประเทศ หนังสือพิมพ์ ทีวีทุกช่อง ลงข่าวกันครึกโครมหมดเลย แต่ตอนศาลยกฟ้องมีข่าวแค่นี้ (ทำมือให้ดูว่าเป็นข่าวสั้นๆ) แล้วประชาชนจะรู้หรือว่าพวกเราไม่ได้ผิด เขาต้องคิดว่าเรายังเป็นฆาตกรอยู่ เพราะเขาไม่รู้ว่าศาลยกฟ้องเรา ตอนออกมาจากคุกมีทนายอยู่ 1 คนช่วยเหลือว่าความคดีฟ้องกรมตำรวจกับตำรวจให้ แต่ฟ้องแบบไม่มีสตางค์ ฟ้องอนาถา ศาลตัดสินแล้วว่าตำรวจพวกนั้นไม่เกี่ยว ให้ฟ้องกับกรมตำรวจ ตอนนี้ฟ้องกับกรมตำรวจอยู่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ตอนโดนจับเสียชื่อเสียง คนอื่นเกลียดว่าเป็นฆาตกร ทั่วประเทศลงข่าวครึกโครมส่วนนี้เรียก 10 ล้านบาท และตำรวจทำร้ายร่างกายทำให้พิการทางสมอง ข้าพเจ้าก็เรียกอีก 5 ล้านบาท แล้วข้าพเจ้าเคยทำงานด้านรักษาความปลอดภัยได้เงินเดือนๆ ละ 3,300 บาทประมาณ 21 เดือนคิดเป็นเงิน 96,300 บาท แล้วก็ตอนที่ข้าพเจ้าเสียอิสรภาพถูกจับเข้าไปอยู่ในคุก ถูกใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ชั่วโมง มีกินบ้างไม่มีบ้างตอนอยู่ในคุก แล้วแดนประหารมีนักโทษทุกประเภท ไม่มีใครกลัวใคร บางคนก็ประสาทเสีย บางคนก็บ้า ก็ต้องทนอยู่กันอย่างนั้น ลำบากมาก ตรงนี้เรียก 10 ล้านบาท แล้วแต่ศาลจะเมตตาให้


"ทนายไม่ได้บอกว่าคดีจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ข้าพเจ้าก็ไปขึ้นศาล ฝ่ายอัยการก็เลื่อนเรื่อย ศาลรัชดาเลื่อนเรื่อย นี้ก็เลื่อนข้าพเจ้าไปวันที่ 3 เมษายน เวลา เช้า 09.00 น. ข้าพเจ้าไม่ได้หวังว่าจะชนะคดีได้เงิน 25 ล้านบาท แล้วแต่ศาลจะเมตตา ได้แค่ 1 ล้าน ครึ่งล้าน แค่ให้พอมีเงินไปใช้หนี้เขา ตอนที่แม่ข้าพเจ้ามาเยี่ยมในคุก แม่อยู่อยุธยาต้องยืมเงินเขามาเยี่ยมข้าพเจ้า ปัจจุบันมีอาชีพขายปลาตู้ ปลากัด และรับจ้างเป็นยามบ้างหรือใครจ้างให้ทำอะไรก็ไปไม่พอกิน


สำหรับแพะแดนประหาร

อยู่ในคุกบอกไม่ถูกว่าจะได้ออกหรือไม่ได้ออก คิดว่าจะได้ออกก็คิดไม่ได้ คิดว่าจะตายก็เอ๊ะ ยังไงก็บอกไม่ถูก คล้ายๆ หมดอาลัยแล้ว ถึงคราวก็ตายคิดแบบนี้ เพราะไม่รู้ว่ากองปราบปรามกำลังเดินเรื่องให้เรา ไม่เคยมีใครมาส่งข่าวให้เลย ตอนไปศาล ตำรวจโรงพักมากันใหญ่เลยทั้งที่เราไม่ได้ผิดเลย ใส่ตรวน 2 เส้น ใส่กุญแจมืออีก จนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว ทำกับเราน่าดู สุดท้ายตำรวจบอกทำไปตามหน้าที่ ทำไปตามพยานหลักฐาน เขาก็พ้นไป จะว่าเป็นเวรกรรมของข้าพเจ้า ก็เป็นกรรมที่มันพวกนี้สร้างกรรมให้เรา พวกตำรวจร่วมกันจับพวกเรา สร้างกรรมให้เรา ทำให้หลายชีวิตต้องลำบาก ลูกเมียลำบาก ในแดนประหารมีคนทุกชนิด บางคนก็ไม่ได้ทำความผิด จับเขาไปไว้ในนั้น บางคนก็สู้คดี ได้คุยกับบางคนไม่ได้มีความผิดบางคนไม่รู้เรื่อง ตำรวจชอบปิดคดีเร็วๆ ข้าพเจ้าว่าตอนนี้ในแดนประหารมีคนที่ไม่ผิดอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าเขาจับกันมาอย่างไร แต่คดีข้าพเจ้าเป็นคดีดัง แต่อยู่ๆ ก็เงียบไม่มีใครรับผิดชอบ บางคนถ้าเกิดเป็นคดีแบบข้าพเจ้า ถ้าหลักฐานที่เขาสร้างมาแน่นหนาก็ต้องโดนประหารทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำความผิด อยากเรียกร้องให้ประเทศไทยมีกฎหมายจ่ายค่าเสียหายชดเชยให้กับคนที่ถูกจับไปอยู่ในคุกโดยไม่รู้เรื่อง ศาลเขาคงจะอ่านหนังสือบ้างว่าคดีแพะมาอีกแล้ว ข้าพเจ้าเห็นข่าวในทีวีจับแพะคดีปล้นร้านทองอีก เขาคงคิดว่าเป็นเวรกรรมของมัน จับเขาไปแล้ว คนจับส่งเป็นใคร คดีข้าพเจ้าจำชื่อได้หมดตอนนี้เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กันแล้ว แต่อย่าไปเอ่ยชื่อเขาเลยไม่ดี เดี๋ยวส่งคนมาเก็บอีกจะยุ่ง"


ลอกคราบเสี่ยวินัย...ปฐมเหตุแห่งความตาย

จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของ เสี่ยวินัยพบว่า มีเส้นทางชีวิตที่ไม่ธรรมดา และจบการศึกษาในระดับที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสวนทางกับพฤติกรรมที่แสดงออกเช่นนี้
เสี่ยวินัย เกิดในครอบครัวที่จัดได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกิน บิดาและมารดานับได้ว่าเป็นผู้มีฐานะและการเงินที่ดีครอบครัวหนึ่ง

ในด้านการศึกษา เสี่ยวินัยสำเร็จการศึกษาวิชาออกแบบและสถาปัตย์ จากสหรัฐอเมริกา จากนั้นกลับมาทำงานในประเทศไทย ปี 2519 โดยประกอบอาชีพเกี่ยวกับการก่อสร้าง และได้มาพักอาศัยอยู่กับมารดาที่บ้านพักเยื้องตรงข้าม สน.ทุ่งมหาเมฆ ซอยสวนพลู เขตยานนาวา

ต่อมาประมาณปี 2523 ได้เปิดภัตตาคาร ชื่อ 'สามก๊ก' ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพักใน ซอยสวนพลู ได้รู้จักกับ น.ส.สุวิบูลย์หรือกุ้ง โดยการแนะของน้องสาวตนเอง และรู้จักกันได้เพียง 2 เดือน ก็ได้เสียมีสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากับ น.ส.สุวิบูลย์ แต่ไม่ได้แต่งงานกันเพราะแม่ของฝ่ายหญิงไม่ชอบ

ด้วยสัมพันธ์ที่มีต่อกันอย่างแน่นแฟ้นทั้ง 2 คน จึงได้ร่วมทุนกันสร้าง คอนโดมิเนียม ชื่อ 'ริเวอร์วิว คอนโดมิเนียม' เป็นอาคารให้เช่าพักจำนวน 8 ชั้น อยู่ แถวตลาดน้อย สัมพันธวงศ์ ในปี 2524

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ร่วมดำเนินกิจการและมีสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากับ น.ส.สุวิบูลย์อยู่นั้น ในปี 2528 เสี่ยวินัยได้ไปรู้จักกับ 'น.ส.เชอรี่แอน ดันแคน' อายุ 16 ปี ที่ร้านอาหาร 'พี.เจ.' สุขุมวิท 19 ซึ่งเป็นของบิดาและมารดาของเชอรี่แอน และเกิดหลงใหลได้ปลื้มในเรือนร่างของลูกครึ่งอเมริกันผู้นี้

ในที่สุดความฝันของเสี่ยวินัยก็บรรลุผล เมื่อแม่ของเชอรี่แอนยินยอมให้เสี่ยวินัยพาไปเลี้ยงดูอุปการะและอยู่กิน โดยมีเรือนหออยู่ที่ห้องพักในริเวอร์วิว คอนโดมิเนียม ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้แม่ของเชอรี่แอนตัดสินใจเช่นนั้นเป็นผลมาจากความร้าวฉานที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวเพราะผู้เป็นพ่อชาวอเมริกันมีพฤติกรรมที่ไม่พึงปฏิบัติในทำนองชู้สาวต่อลูกสาวในไส้หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเมา

นอกเหนือจากการลงทุนร่วมกับ น.ส.สุวิบูลย์ในกิจการให้เช่าคอนโดมิเนียมแล้ว เสี่ยวินัยยังดำเนินกิจการอื่นๆ อีกมากมาย โดยในปี 2529 ได้ตั้ง 'ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิวลิตี้ อาคิเทค แอนด์เมนเทนเม้นท์' หรือ 'คิว เอ เอ็ม' ประกอบธุรกิจก่อสร้างตกแต่งอาคาร ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและซ่อมแซมบ้าน โดยเปิดรับในระบบสมาชิก ที่ต้องเสียค่าสมาชิกเดือนละ 2,000 บาท



พฤติกรรมเจ้าชู้ไม่เลือกหน้า

สำหรับต้นตอปัญหาความขัดแย้งใน 'รักสามเส้า' ระหว่างเสี่ยวินัย-น.ส.สุวิบูลย์-น.ส.เชอรี่แอน ซึ่งกลายเป็นศึกชิงรักหักสวาทที่บานปลายใหญ่โตนำไปสู่คดีฆาตกรรม อันลึกลับซับซ้อนและโหดร้ายป่าเถื่อนในวันที่ 22 ก.ค. 2529 อีกทั้งยังสืบทอดความทุกข์ร้อนแสนเข็ญมาสู่บรรดากลุ่ม 'แพะรับบาป' ของคดีและทายาทจวบจนปัจจุบันอย่างไม่รู้จักจบสิ้นนั้น ถ้าจะกล่าวว่าเป็นผลมาจาก 'ความเจ้าชู้' ไม่รู้จักพอของเสี่ยวินัยก็คงจะไม่เกินเลยไปนัก

เพราะขณะที่สังคมรับรู้ว่า เสี่ยวินัยอยู่กินกับ น.ส.สุวิบูลย์ ยังแอบเล็ดลอดไปหาความสุขกับหญิงอื่นอยู่ตลอดเวลา และมีผู้หญิงผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างมากหน้าหลายตา กระทั่งสร้างความไม่พอใจให้กับ น.ส.กุ้ง ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูทางการเงินของเสี่ยวินัย

เท่าที่สืบทราบนอกจาก น.ส.สุวิบูลย์ และน.ส.เชอรี่แอนแล้ว ก่อนหน้านั้นเสี่ยวินัยยังแอบลักลอบได้เสียกับ 'น.ส.ทิพย์วรรณ' หรือ 'น้อย' ซึ่งเป็น 'คนใช้' ในบ้านของแม่ตนเองอีกด้วย

น.ส.ทิพย์วรรณได้เข้าเป็นคนใช้อยู่ที่บ้านแม่ของเสี่ยวินัยขณะที่มีอายุ 14 ปี โดยได้รับเงินเดือนในครั้งแรก 350 บาทต่อเดือน ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี ได้ตกเป็นภรรยาของเสี่ยวินัยอย่างลับๆ

น.ส.ทิพย์วรรณเคยออกจากบ้านเสี่ยวินัยไปประกอบอาชีพเป็นสาวบริการในร้านอาหารญี่ปุ่น จากนั้นได้กลับมาประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2529 และเข้าพักอาศัยอยู่ที่บ้านเสี่ยวินัยเช่นเดิม และทราบเรื่องว่า น.ส.สุวิบูลย์มีความสัมพันธ์กับนายวินัยอย่างลึกซึ้ง


ขอคืนดี 'กุ้ง' แต่ไร้ผล

สำหรับเฉพาะกับ น.ส.สุวิบูลย์นั้น หลังเกิดคดีฆาตกรรม ในระหว่างที่เสี่ยวินัยหลุดจากคุกเป็นคนแรกๆ ปรากฏว่า แทนที่เสี่ยวินัยจะขัดแย้งกับ น.ส.สุวิบูลย์เพราะเป็นต้นเหตุให้ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาและหวิดที่จะมีชะตาชีวิตเหมือนกับแพะทั้ง 4 คนเสี่ยวินัยกลับพยายามที่จะหาทางคืนดีกับ น.ส.สุวิบูลย์

ไม่มีใครทราบได้ว่า เสี่ยวินัยมีวัตถุประสงค์อย่างไร แต่สามารถคาดเดาได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการคืนดีกับ น.ส.สุวิบูลย์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีอยู่วันหนึ่งเสี่ยวินัยไปหาน.ส.สุวิบูลย์ที่บ้านและพบเห็นกับตาตนเองว่า อดีตคู่ขาเก่าคนนี้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ 'พ.ต.ท.ล้ำเลิศ ธรรมนิธา' รองผู้กำกับการสภ.อ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานสอบสวนคดีนี้

เสี่ยวินัยกับ พ.ต.ท.ล้ำเลิศ เกิดมีปากมีเสียงกันจนมีการแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน โดยนายวินัยแจ้งความว่า พ.ต.ท.ล้ำเลิศขู่ฆ่า ส่วน พ.ต.ท.ล้ำเลิศแจ้งความว่าถูกเสี่ยวินัยพูดจาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน



สืบสวนคดีเชอรี่แอน ดันแคน ใหม่หมด

ในชั้นแรกที่นายวินัย ถูกจับกุม และตั้งข้อกล่าวหานั้น เจ้าหน้าที่ตรวจแถลงข่าวว่า มูลเหตุสำคัญที่สุดที่เป็นเหตุจูงใจที่ทำให้นายวิชัย วางแผนฆ่า เชอรี่แอน เนื่องจากเขาจับได้ว่า เชอรี่แอนแอบมีชายหนุ่มคนใหม่ แถมยังพามาค้างที่คอนโดฯ ของเขาอีกด้วย พิษรักแรงหึงทำให้เขาใช้วิธีจ้างวานบริวารใกล้ชิด ให้อุ้มเชอรี่แอนไปเชือดด้วยความแค้น

ผลสรุปเรื่องราวแห่งคดีฆ่านี้ทั้งหมดนี้พยานโจทย์ให้การว่า กลุ่มฆาตกรได้ทำการมอมยาผู้ตายให้สลบ อาจด้วยการโปะยาบนรถแท็กซี่ หลังจากนั้นจึงนำร่างเธอไปที่เกิดเหตุ โดยอาจปล่อยร่างของเธอค่อยๆ จมลงน้ำ จนขาดใจตายไปเอง อย่างที่เหตุการณ์ปรากฏ(อ้าวไหนตอนแรกบอกว่าบีบคอตายไง)

แม้ว่าจำเลยทั้งหมด จะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา มาตั้งแต่ถูกจับกุมและในชั้นสอบสวนก็ตาม แต่เมื่อความจริงเปิดเผยออกมา ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว เพราะพวกเขา ทั้งถูกซ้อม ทรมานด้วยกลกรรมวิธีต่างๆ นานาสารพัดสารพัน จากคดีง่ายๆ กับกลายเป็นคดีซ้อนคดีในเรื่องราวกันจนแยกไม่ออก ระหว่างกลุ่มฆาตกร และแพะรับบาป

หลังจากรู้ว่ากลุ่มฆาตกรที่จับมาเป็นแพะรับบาป เจ้าหน้าทีตรวจต้องสืบสวนใหม่หมด โดยเริ่มต้นจาก สภอ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และกำลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ขนาดกองปราบปรามที่ถูกร้องเรียนจากนายวินัย ให้มาช่วยสืบสาวความเป็นจริง และความยุติธรรมที่จริงแท้ของคดีนี้ ให้กระจ่าง และนอกจากจะจับกลุ่มฆาตกรในคดีนี้แล้ว ยังต้องวางแผนจับกุมกลุ่มตำรวจแหกคอกไปพร้อมๆ กันอีกด้วย



ฆาตกรตัวจริง

เวลาล่วงเลยมาถึงพ.ศ.2538 เกือบ 10 ปีหลังการฆาตกรรม สาวน้อยเชอรี่แอน เจ้าหน้าที่กองปราบปราม ยังไม่ทิ้งคดีนี้เสียที่เดียว มีการรื้อสำนวน สอบปากคำพยาน และรวบรวมหลักฐานใหม่หมด ความลับและปริศนาในอดีตค่อยๆ กระจ่างออกมาที่ละปม จนกระทั้งชุดที่สืบสวนโชว์ผลงานจับกุมกลุ่มฆาตกรตัวจริงได้ โดยกลุ่มสืบสวนในตอนนั้นประกอบไปด้วย

พ.ต.อ.อดิศร จินตนะพัฒน์ รอง ผกก.3 ป รองผู้กำกับการ 3
พ.ต.ท.จตุรงค์ เนขขัมม์ รองผกก.3 ป รองผู้กำกับการ 3
พ.ต.ท.โชคดี อนุภาพเดช ,ร.ต.อ.สมศักดิ์ พัฒนเจริญ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)

การรื้อฟื้นคดีที่ศาลพิพากษาตัดสินไปแล้ว ไม่ใช้เรื่องที่ทำกันง่ายๆ ในวงการยุติธรรมไทยในสมัยนั้น ทั้งสามฝ่าย คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา ต้องดำเนิน ทั้งตัวบทกฎหมาย ด้วยความยุ่งยากหลายขั้นตอน

เป็นสองคดีที่ซ้อนขึ้นอย่างหลายเงื่อนในโจทย์เดียวกัน ทุกอย่างจึงรื้อฟื้นโดยเริ่มต้นจากศูนย์


**************


ความจริงที่ปรากฎออกมา

เจ้าหน้าที่กองปราบพบว่า นอกจากนายวินัยจะมีความสัมพันธ์สวาทกับนางสาวเชอรี่แอนแล้ว เขายังมีผู้หญิงคนอื่นอีก หนึ่งในนั้นคือ นางสาวสุวิบูง พัฒน์พงษ์ พานิช หรือกุ้ง หุ้มส่วนธุรกิจของนายวินัย นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีก 2-3 คน ในบริษัทก่อสร้าง ตำรวจสืบแกะรอย คู่ขาวินัยทุกคน

หลังวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 ข่าวการฆาตกรรมเชอรี่แอน โด่งดังอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่กองปราบจับกุมผู้ต้องหาคดีนี้เป็นคำราบสอง ประกอบไปด้วย นายสมใจและนายสมพงษ์ บุญญฤทธิ์ สองศรีพี่น้อง ที่เชื่อกันว่าเป็นคนสังหารเชอรี่แอนตัวจริง

19 กุมภาพันธุ์ 2538 จับนายสมัคร ธูปบูชาการ และนายว่องไว ผู้ร่วมทีมสังหาร

1 พฤศจิกายน 2538 นางสาวสุวิบูล เดินเข้ามามอบตัวในฐานะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวาน แต่ใช้หลักทรัพย์ 5,000,000 บาท ประกันตัวออกไปได้

18 มกราคม 2539 ตัวรวจจับกุม นายประมวล พลัดโพชน์ คนขับรถสามล้อในข้อหาแจ้งความเท็จจนในที่สุดศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 8 ปี

ในชั้นศาล ตำรวจได้ประมวลเหตุการณ์ และหลักฐานต่างๆ สรุปส่งฟ้องศาล ดังต่อไปนี้

นงสาวสุวิบูล เกิดความหึงหวง เชอรี่แอนขึ้นมา เมื่อสืบรู้ว่านายวินัย มีความสัมพันธ์สวาทกับเธอ อย่างลับๆ และได้นำเชอรี่แอนมาเลี้ยงดูจนออกหน้าออกตา ส่งเสีย ทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ

ด้วยความแค้นและริษยา หึงหวง จึงจ้างวานให้คนอื่น อุ้มเชอรี่แอนไปฆ่าโดยไตร่ตรองและวางแผนไว้ก่อน โดยมี นายสมพงษ์และนายสมใจ สองมือฆ่า ซึ่งทั้งคู่เคยเป็นนักงานบริษัทของนายวินัยมาก่อน จึงรู้จักเชอรี่แอนพอสมควร อีกทั้งยังเคยรับส่งเชอรี่แอนอยู่บ่อยครั้ง และบางครั้งภรรยาของเขาทั้งสองก็เคยเป็นพี่เลี้ยงเชอรี่แอนมาก่อนเป็นบางครั้งที่นายวินัยติดธุระ แต่ภายหลังเกิดมีเรื่องบาดหมางกับนายวินัย จนต้องย้ายมาทำงานกับนางสาวสุวิมล

ด้วยความแค้นที่ต่อนายวินัย ทั้งสองจึงรับปากกับนางสาวสุวิมลอย่างง่ายได้
และด้วยความรู้จักสนิทสนมกับเชอรี่แอนจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะหลอกเธอไปฆ่า

นายสมัคร ธูปบูชาการ ก็มีความสนิทสนมกับกลุ่มฆาตกรกลุ่มนี้ด้วย
นายพีระ ว่องไววุฒิ เป็นเพื่อนสนิทกับนายสมพงษ์ และนายสมใจ และเป็นโซเฟอร์แท็กซี่มรณะ หมายเลขทะเบียน 1ท-3992 กรุงเทพมหานคร ที่ไปรับส่งเชอรี่แอนที่หน้าประตูโรงเรียน จนพบจุดจบ แต่เจ้าหน้าที่กันตัวเขาไว้เพื่อเป็นพยานในคดีนี้

แผนการฆ่าก็ง่ายๆ คือ เดินทางไปรับเชอรี่แอนที่โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา ในซอยสุขุมวิท 101 โดยนายสมพงษ์ และนายสมใจ ใช้อุบายล่อหลอกเชอรี่แอนในเรื่องที่เกี่ยวกับนายวินัย จนเชอรี่แอนหลงเชื่อ วางใจจนยอมขึ้นรถไปด้วย ระหว่างทางที่ขับรถไปบางปู เธออาจรู้สึกตัวว่ามันมาผิดเส้นทางที่ควรจะเป็น เธอคงพยายามหนีออกจากรถ และอาจมีการต่อสู้และขัดขืนในแท็กซี่มรณะคันนั้น ด้วยรู้ล่วงแล้วว่าซะตาชีวิตจะเป็นอย่างไรในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

กลุ่มฆาตกรจำเป็นต้องบีบคอเธอจนเสียสติ จนถึงหลักกิโลที่ 43 ตำบลบางปูใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นป่าแสมรกชัฏและเปล่าเปลี่ยว กลุ่มฆาตกรนำร่างของเธอ ไปทิ้งไว้ในร่องน้ำจนจมน้ำตาย และชาวบ้านมาพบศพอีก 2 วันต่อมา



ผลการตัดสิน


นี้อาจเป็นผลการตัดสินที่ล้มมวยคนดูทั้งประเทศก็ได้

6 สิงหาคม พ.ศ.2540 เกือบสองปีต่อมาหลังจากจับกุมกลุ่มฆาตกรและผู้จ้างวานตัวจริง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ให้ตัดสินประหารชีวิตนางสาวสุวิบูล พัฒน์พานิช ผู้จ้างวาน รวมทั้งนายสมพงษ์ บุญญฤทธิ์ และนายสมัคร ธูปบูชการ สองมือฆ่า ก็ถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตเช่นกัน

ต้นปี พ.ศ. 2542 ศาลอุทรณ์พิพากศาลยืนตาม ศาลชั้นต้นให้ประหารีวิตโดยไม่ลดหย่อนผ่อนโทษ

แต่....

29 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ศาลฎีกา พลิกคำตัดสินจากสองศาลแรก โดยให้ปล่อยตัว นางสาวสุวิบูลไป เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ แม้ว่าจะทำให้เชื่อว่า นางสาวสุวิบูลกิจ เป็นคนจ้างวานฆ่าเชอรี่แอนตัวจริงก็ตาม ส่วนสองมือฆ่า ศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต

ส่วนกลุ่มตำรวจชุดแรกของ สภอ. เมืองสมุทรปราการ ที่สืบสวนคดีนี้และปั้นพยานเท็จเพื่อจับแพะขึ้นมานั้น ทั้งหมดไม่ได้ถูกลงทัณฑ์แต่อย่างใด เพราะศาลตัดสินแล้วว่า กระทำลงไปตามขั้นตอนของการสอบสอน ตามกฎหมายทุกประการ ปัจจุบันบางคนก็ได้ดีในหน้าที่การงานด้วยซ้ำ

ส่วนนายวินัยตัวต้นเหตุทุกวันนี้ยังไม่เลิกพฤติกรรมเดิม และนอกจากนี้ยังฟ้องร้องครอบครัวของแพะรับบาปในเรื่องการแบ่งฟ้องค่าสินไหมทดแทนคดีนี้อย่างไม่รู้จบจักสิ้น


หลังจากนั้น

ความตายของเชอรี่แอน กลายเป็นตำนานฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่สุดในประเทศไทย ผลพวงของคดีนี้ที่ตามมาคือเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการยุติธรรมมากมายทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา

พ.ศ. 2539 สำนักงานอัยการสูงสุด จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "คดีเชอรี่แอนกระบวนการจะคุ้มครองเสรีภาพของผู้บริสุทธิ์อย่างไร"จากการเสวนาครั้งนั้นได้มีการปรับปรุงขั้นตอนยุติธรรมบางอย่าง ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ด้วย





ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : www.baanmaha.com/community/thread26012.html

www.baanmaha.com/community/thread26013.html